เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.65 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ร่วมกันตั้งฉายา เพื่อสะท้อนการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติตลอดปี 2565 ดังนี้
1. “สภาผู้แทนราษฎร" ได้รับฉายา "3 วันหนี 4 วันล่ม"
เนื่องจากตลอดการประชุมรอบปี 65 ของ ส.ส. ประสบปัญหาสภาล่มซ้ำซาก ทำให้การทำงานเกิดความล่าช้า ตั้งแต่วันเปิดสมัยประชุมจนส่งท้ายปี โดย ส.ส.ฝ่ายค้าน เล่นเกมนับองค์ประชุม ทั้งที่ฝ่ายตนเองนั้นก็มาร่วมประชุมน้อย
เช่นเดียวกับ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ที่ไร้ความรับผิดชอบในการรักษาองค์ประชุมทั้งที่เป็นฝ่ายเสียงข้างมากในสภาฯ มิหนำซ้ำช่วงท้ายวาระ ส.ส. ต่างหนีไปลงพื้นที่เพื่อทำคะแนนก่อนการเลือกตั้ง จนละเลยการมาประชุมสภาฯซึ่งถือเป็นอีกหน้าที่หนึ่งของผู้แทน ด้วยเหตุเหล่านี้จึงเป็นที่มาของฉายาข้างต้น
2. "วุฒิสภา" ได้รับฉายา "ตรา ป."
ที่ผ่านมายังคงทำหน้าที่รักษาประโยชน์ให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จนถูกมองว่าแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือ กลุ่มที่สนับสนุนป.ประยุทธ์ และกลุ่มที่สนับสนุน ป.ประวิตร เพราะการลงมติเรื่องสำคัญแต่ละครั้งจะต้องมีการส่งซิกมาจาก 2 ป.
จนกระทั่งล่าสุด ช่วงปลายปีเริ่มเห็นชัดในขั้วของส.ว. ว่าจะเลือกป.ใด เป็นนายกรัฐมนตรี
3.) นายชวน หลีกภัย “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ได้รับฉายา “ชวน ซวนเซ”
เนื่องจากการทำหน้าที่ของนายชวน จากที่เคยได้รับความเคารพ และเชื่อฟังจาก ส.ส.รุ่นน้อง สามารถยุติข้อขัดแย้งต่าง ๆ ได้ แต่ในปีนี้กลับตรงกันข้าม คือ ถูกลดความยำเกรง ไม่ได้รับการยอมรับ และยังถูก ส.ส.ท้าทาย จนหลายครั้งกลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการประสานงานของวิปรัฐบาลที่ไม่ดีพอ จนทำให้นายชวน ซวนเซ เสียหลักไปด้วย
4. นายพรเพชร วิชิตชลชัย “ประธานวุฒิสภา” ได้รับฉายา "พรเพชร พักก่อน"
การทำหน้าที่ควบคุมการประชุม มักโดนส.ว.ป่วน เพื่อลองของ จนบางครั้งประธานแสดงความรู้สึกผ่านทางใบหน้า เช่นเดียวกับการขึ้นทำหน้าที่ประธานบนบัลลังก์ในการประชุมรัฐสภาครั้งใดมักก็ไม่สามารถควบคุมการประชุมให้ราบรื่นได้
รวมทั้งบทบาทการทำหน้าที่ของนายพรเพชร มักถูก ส.ส.ทักท้วง ทำหน้าที่สนับสนุนรัฐบาลเหมือนสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มากกว่าการทำหน้าที่ตรวจสอบ จึงทำให้เกิดคำถามว่า นายพรเพชร ควรพักก่อนหรือไม่?
5. นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว "ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” : "หมอ(ง) ชลน่าน"
แม้นายแพทย์ชลน่าน จะมีความโดดเด่นในการทำหน้าที่ จนได้รับฉายาดาวเด่นปี 2564 แต่เมื่อได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และต่อมาได้เป็นผู้นำฝ่ายค้านกลับหมอง อภิปรายในสภาไม่โดดเด่นเหมือนที่ผ่านมา ทำหน้าที่เพียงในนามหัวหน้าพรรคเท่านั้น ขาดอิสระ ทำงานภายใต้การควบคุมของบุคคลอื่น
6. "ดาวเด่น’65"
ในปีนี้ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา เห็นว่า “ไม่มีผู้ใดเหมาะสม” และโดดเด่นเพียงพอที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว
7.) “ดาวดับ’65” ได้แก่ “นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์”
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ที่มีความโดดเด่นในเรื่องที่ไม่ใช่หน้าที่ของตน โหนกระแสสังคม เพื่อหาพื้นที่ให้ตัวเอง ทั้งคดีนักแสดงสาว “แตงโม”, การว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงของ “โตโน่” รวมถึงกรณี “เรือหลวงสุโขทัยอับปาง” ล้วนแต่เป็นความพยายามหาซีนของ ส.ส.เต้ ทั้งที่ไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้อง และมักแสดงความเป็นผู้เชี่ยวชาญทุกเรื่อง ทั้งที่ไม่ได้รู้จริง ดังนั้น แม้นายมงคลกิตติ์ จะพยายามหาแสงให้ตัวเองมากเพียงใด สุดท้ายก็เป็นเพียง “ดาวดับ” และตัวตลกสีสันการเมืองเท่านั้น
8.) “วาทะแห่งปี’65″ ได้แก่ “เรื่องปฏิวัติผมไม่ได้เกี่ยวข้อง นี่ครับคนปฏิวัติ..ท่านนายกฯ คนเดียว”
ของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่เกิดขึ้นระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อ 20 กรกฎาคม 2565 และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่นั่งอยู่ข้างกัน ดูจะไม่ยี่หระกับคำพูดดังกล่าว แต่กลับยกมือ ยิ้ม ยอมรับอย่างเต็มภาคภูมิ ท่ามกลางเสียงปรบมือของ ส.ส.อย่างชอบใจ ทั้งที่ตัวเองก็มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น การพูด และกระทำเช่นนี้ จึงไม่ควรเกิดขึ้นในองค์กรนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และการปฏิวัติ-รัฐประหาร ยังเป็นการกระทำที่ผิดครรลอง และทำลายระบอบประชาธิปไตยด้วย
9.) “เหตุการณ์แห่งปี” คือ “เกมพลิกสูตรหาร 100″
โดยมีความพยายามของ ส.ส. และ ส.ว.ทำให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ทันกำหนดเวลา เพื่อพลิกสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากหาร 500 กลับไปเป็นสูตรหาร 100 ตามเดิม ซึ่งเหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐสภาทุ่มเทให้ความสำคัญ ใช้ช่องของรัฐธรรมนูญกับผลประโยชน์พรรคพวกตัวเอง เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง โดยไม่ได้คำนึงว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์ใด ๆ
10.) คู่กัดแห่งปี ได้แก่ “นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ” สมาชิกวุฒิสภา และ “นายรังสิมันต์ โรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่ทั้งคู่ได้มาประชุมร่วมกัน หลายครั้งเกิดวิวาทะแบบไม่ลดลาวาศอก ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ โดยเฉพาะประเด็นการกู้ยืมเงินกองทุน กยศ. ที่เริ่มต้นจากการอภิปรายของนายรังสิมันต์ มักพาดพิงที่มาของ ส.ว.บ่อย ๆ จนทำให้นายกิตติศักดิ์ ประท้วง และดึงเรื่องหนี้ กยศ. มาตอบโต้นายรังสิมันต์ ให้สำเหนียกตัวเอง เพราะไม่ยอมชำระหนี้ จนนายรังสิมันต์ โต้แย้งกลับว่า ได้ชำระหนี้ กยศ.จนครบถ้วนแล้ว
11.) “คนดีศรีสภา’65”
ปี 2565 นี้ ซึ่งถือเป็นปีที่ 4 ที่ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ยังไม่เห็นว่า จะมี ส.ส. หรือ ส.ว.คนใด เหมาะสมที่จะได้รับตำแหน่งดังกล่าว
ทั้งนี้ การตั้งฉายาการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือ ส.ส. และ ส.ว. เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาทุกปี ในฐานะที่ติดตามการทำหน้าที่ของ ส.ส. และ ส.ว.อย่างใกล้ชิด เพื่อสะท้อนความคิดเห็นการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนขอเป็นกำลังใจให้ ส.ส. และ ส.ว.ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ให้มุ่งมั่น ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ ส.ส. และ ส.ว.ที่บกพร่องในการทำหน้าที่ ขอให้ทบทวน ปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชนต่อไป