ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2565 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้มีความสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตลอดจนสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน
จึงสมควรกำหนดระเบียบดังกล่าวเสียใหม่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นรวมถึงการไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม
เพื่อให้ระบบราชการไทยและหน่วยงานอื่นของรัฐโปร่งใสไร้ผลประโยชน์ และเพื่อเสริมมาตรการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายเพิ่มเติมว่า ระเบียบดังกล่าวได้กำหนดห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลในครอบครัวให้หรือรับของขวัญระหว่างผู้บังคับบัญชา ผู้ในบังคับบัญชา หรือบุคคลในครอบครัวของผู้บังคับบัญชา หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน
ตลอดจนห้ามไม่ให้บุคคลข้างต้นรับของขวัญจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น เว้นแต่เป็นการให้หรือรับตามปกติประเพณีนิยม ซึ่งมีราคาหรือมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท จากผู้ให้แต่ละคนและแต่ละโอกาส หรือตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดไว้
สำหรับ “ของขวัญ” ที่กำหนดตามระเบียบฯ นั้น ใกล้เคียงกับระเบียบเดิม นั่นคือ เงินหรือทรัพย์สินที่ให้แก่กันเพื่ออัธยาศัยไมตรี ให้เป็นรางวัล ให้โดยเสน่หา ให้เพื่อการสงเคราะห์หรือให้เป็นสินน้ำใจ และให้หมายรวมถึงประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้
เช่น การให้สิทธิพิเศษซึ่งไม่ใช่เป็นสิทธิที่จัดไว้สำหรับบุคคลทั่วไป ในการได้รับการลดราคาทรัพย์สินหรือการได้รับบริการ หรือการได้รับการฝึกอบรม หรือการได้รับความบันเทิงตลอดจนการออกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือการท่องเที่ยว ค่าที่พัก ค่าอาหาร หรือสิ่งอื่นใด ในลักษณะเดียวกัน รวมถึงการให้บัตร ตั๋ว หรือหลักฐานอื่นใด การชำระเงินให้ล่วงหน้าหรือการคืนเงินหรือสิ่งของให้ภายหลัง
นอกจากนี้ ได้เพิ่มบทนิยามของทรัพย์สินที่ให้เป็นของขวัญ นอกจากจะหมายถึงทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ให้หมายความรวมถึงทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย
ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจงใจปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ของขวัญหรือรับของขวัญโดยฝ่าฝืนระเบียบฯ จะถือว่าผู้นั้น กระทำผิดวินัยหรือไม่ประพฤติปฏิบัติตน ให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และให้ดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐหรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป