“กนก วงษ์ตระหง่าน”หวังรัฐบาลหน้าดันร่างพ.ร.บ.การประมงต่อ

25 ก.พ. 2566 | 08:07 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.พ. 2566 | 08:18 น.

“กนก วงษ์ตระหง่าน”วอนทุกพรรคดันร่างพ.ร.บ.การประมงต่อ จนมีผลบังคับใช้ ชี้ประมงชายฝั่งทนทุกข์ยาวนาน กฎหมายลิดรอนสิทธิการทำประมงพื้นบ้าน จมปลักกับความยากจน หวังรัฐบาลใหม่กำหนดนโยบาย สมดุล รักษาทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ละเลยความมั่นคงชีวิตประมง

ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน เลขานุการคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.การประมง ที่เพิ่งผ่านวาระที่ 1 ของสภาฯ ไปเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า ยังมีความไม่แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วกฎหมายนี้จะได้ไปต่อหรือไม่ เพราะต้องรอการยืนยันจากรัฐบาลชุดหน้า ภายใน 60 วัน นับจากวันที่มีรัฐพิธีเรียกประชุมรัฐสภา             

โดยหวังว่าไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ขอให้ผลักดันต่อ เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เนื่องจากชาวประมงทนทุกข์มานานหลายปีแล้ว นับตั้งแต่มีการออกพระราชกำหนดการประมง ปี 2558 มีเนื้อหากำกับควบคุมชาวประมงอย่างเข้มงวด เกินสัดส่วน จนกลายเป็นการลิดรอนสิทธิการทำประมงพื้นบ้าน ทำให้ชาวประมงจำนวนมากต้องสูญเสียอาชีพ ไม่สามารถทำกินต่อได้ 

ศ.ดร.กนก ให้ข้อมูลด้วยว่า ประเทศไทยมีชาวประมงชายฝั่งทั้งด้านทะเลอันดามันและอ่าวไทย ประมาณ 1 ล้านคน ส่วนใหญ่ของชาวประมงชายฝั่งยากจน มีรายได้ไม่พอกับการยังชีพ และยังต้องเผชิญกับช่วงเวลาปิดอ่าวปีละ 3 เดือน เพื่อให้สัตว์น้ำวางไข่และเติบโต พวกเขาทำได้เพียงการตกปลา จับปู หาหอยด้วยเครื่องมือที่กรมประมงควบคุม 

                           “กนก วงษ์ตระหง่าน”หวังรัฐบาลหน้าดันร่างพ.ร.บ.การประมงต่อ

ชีวิตที่ต้องปากกัดตีนถีบ ทำให้ชาวประมงจำนวนหนึ่งเลือกเดินทางที่ผิด ใช้เครื่องมือผิดไปจากข้อกำหนดของกรมประมง ถูกจับปรับ นี่คือโจทย์ทางนโยบายต่อพรรคการเมือง และรัฐบาลในอนาคต  ที่จะต้องคิดและตัดสินใจ เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลไว้ให้คนไทยในอนาคต 

และในเวลาเดียวกันจัดสรรทรัพยากรธรรมชาตินี้ ให้กับคนไทยในปัจจุบันอย่างเป็นธรรมและคุ้มค่า เราไม่ต้องการคำตอบเพียงนโยบายหาเสียง แต่เราต้องการการปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายที่จะช่วยให้ชาวประมงชายฝั่งอยู่รอดและมีชีวิตที่มั่นคงอย่างน้อยในฐานะที่เป็นคนไทย

                                 “กนก วงษ์ตระหง่าน”หวังรัฐบาลหน้าดันร่างพ.ร.บ.การประมงต่อ

“ผมขอเรียกร้องความเป็นธรรมและสิทธิความเป็นคนไทยแทนชาวประมงชายฝั่งว่า ช่วงเปิดอ่าวชาวประมงชายฝั่งยังต้องสู้กับเรือประมงพาณิชย์ที่ใหญ่กว่า และใช้เครื่องมือที่ทันสมัยกว่า เข้ามาแย่งจับสัตว์น้ำในน่านน้ำชายฝั่ง ส่งผลให้สัตว์ในพื้นชายฝั่งลดลงอย่างรวดเร็ว 
ขณะที่พวกเขายังคงยากจน ใช้ชีวิตอยู่บนความไม่เป็นธรรม ทั้งเรื่องเครื่องไม้ เครื่องมือ และการถูกกดราคาโดยแพปลา จึงหวังว่าร่าง พ.ร.บ.การประมง จะเป็นทางรอดของชาวประมงชายฝั่งที่ยากจนด้วย ไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาของประมงพาณิชย์เท่านั้น" ”ศ.ดร.กนก กล่าว