ป.ป.ช.ฟันอดีตประธานบอร์ด อคส.-พวก ทุจริตถุงมือยางทำสูญ 2,000 ล้าน

05 เม.ย. 2566 | 10:02 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2566 | 10:10 น.

ป.ป.ช.ฟัน"สุชาติ เตชจักรเสมา" อดีตประธานบอร์ดอคส.กับพวก ทุจริตถุงมือยาง ร่วมมือเจ้าหน้าที่-เอกชนวางแผนอุปโลกน์ผลิตถุงมือยาง 500 ล้านชิ้นทำ อคส.สูญเงิน 2,000 ล้านบาท เตรียมไล่ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน


วันที่ 5 เม.ย. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงข่าวถึงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสุชาติ เตชจักรเสมา ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) พร้อมพวก ทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีจัดซื้อถุงมือยาง จำนวน 500,000,000 กล่อง ระหว่างองค์การคลังสินค้า กับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด มูลค่ากว่า 112,500,000,000 บาท
 

นายนิวัติไชย กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนกรณีการจัดซื้อถุงมือยางจำนวน 500,000,000 กล่อง ระหว่างองค์การคลังสินค้า กับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด ตามสัญญาเลขที่ อคส.ถม. 357/2563 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2563  ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหา 3 กลุ่ม คือ    

 
1. กลุ่มผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ขององค์การคลังสินค้า ประกอบด้วย พันตำรวจเอก รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า นายสุชาติ เตชจักรเสมา ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า นายเกียรติขจร แซ่ไต่ หัวหน้าส่วนงานการตลาดดิจิตอล รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการขายและจัดจำหน่าย และนายมูรธาธร คำบุศย์ หัวหน้าส่วนงานการเงิน สำนักบริหารการเงิน ผู้ถูกกล่าวหา 

2. กลุ่มเอกชนผู้ทำสัญญาซื้อถุงมือยางจากองค์การคลังสินค้า ประกอบด้วย นายศรายุทธ สายคำมี นางสาวสุภาวดี เอกรัตนากุล หรือ จักรบดินร์ นายชิเนนทรธรณ์ หรือ ชเนนทร เลิศพิพัฒน์  นายก้องหล้า มฤคพิทักษ์ นางเฟื่องฟ้า วงศ์สินศิริกุล นายอับดุลลา ปาทาน  นายราชาทีปซิงห์ ยอน นางฉันทิศา หวง กรรมการบริษัท ไทย สไมล์ เทรด จำกัด บริษัท ไทย สไมล์ เทรด จำกัด  ร้อยตำรวจเอก นพฤทธิ์ หรือ ณรภัทร สุขแจ่ม  นางนรากร รมศรี  นางปณาลี  บุรณศิริ ผู้ถูกกล่าวหา

3. กลุ่มเอกชนผู้ทำสัญญาขายถุงมือยางให้กับองค์การคลังสินค้า ประกอบด้วย บริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด  นายธณรัสย์ หัดศรี กรรมการบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด  นางสาวปิยาภรณ์ รอดเจริญ นางสาวพิชญศรส์ เศวตศุภวัฒณ์  นางสาวกันตา  สิงห์ศักติ นายอัยวัฏฐ์ เศวตนริทร์ 

ทั้งนี้ จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้ร่วมกันในลักษณะแบ่งหน้าที่และให้การช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกันในการกระทำความผิด โดยผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ขององค์การคลังสินค้า ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่ในการซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ ได้กระทำความผิดโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ในการทุจริต ด้วยการร่วมกันกับผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นกลุ่มเอกชนผู้ทำสัญญาซื้อถุงมือยางนำบริษัท ไทย สไมล์ เทรด จำกัดซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการค้าขายถุงมือยาง 

รวมทั้งยังได้ร่วมกันแอบอ้างว่ามีผู้แทนของ GALORE MANAGEMENT, LLC และ KRENEK LAW OFFICES, PLLC ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เข้ามาเป็นผู้ซื้อถุงมือยางจากองค์การคลังสินค้าในมูลค่าสูง ทั้งที่ยังไม่ได้มีการวางหลักเกณฑ์หรือระเบียบในการจัดหาและจำหน่ายสินค้า 

จากนั้นได้เร่งรีบเสนอโครงการจัดซื้อถุงมือยางที่ไม่ได้อยู่ในแผนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่เผยแพร่ในเว็บไซต์ขององค์การคลังสินค้า ไม่ติดประกาศในที่เปิดเผย ไม่มีราคาอ้างอิง โดยใช้เป็นข้ออ้างว่ามีลูกค้ารองรับซื้อต่อล่วงหน้าแล้ว เพื่อมุ่งหมาย และมีวัตถุประสงค์ในการร่วมกับกลุ่มเอกชนผู้ทำสัญญาซื้อขายถุงมือยางนำบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด เข้าทำสัญญาขายถุงมือยางกับองค์การคลังสินค้า โดยไม่ต้องแข่งขันราคากับผู้เสนอราคารายอื่น 

รวมทั้งเพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการถอนเงินขององค์การคลังสินค้าที่ได้ฝากประจำไว้ยังสถาบันการเงินไปจ่ายเป็นเงินล่วงหน้าให้กับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด จำนวน 2,000,000,000 บาท โดยไม่มีอำนาจ ประกอบกับสัญญาที่ใช้  ในการลงนาม ก็ไม่ใช่สัญญาที่ใช้หรือเคยใช้อยู่ในหน่วยงานของรัฐ 

                                นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ทั้งไม่ดำเนินการส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญา อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การคลังสินค้าและราชการอย่างร้ายแรง
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้ว มีมติการดำเนินการทางอาญาและทางวินัยดังนี้

1. การกระทำของ พันตำรวจเอก รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า และ นายเกียรติขจร แซ่ไต่ หัวหน้าส่วนงานการตลาดดิจิตอล รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักการขายและจัดจำหน่าย องค์การคลังสินค้า เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ  พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 11 มาตรา 12 

ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 มาตรา 8 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2561  

2. การกระทำของ นายสุชาติ เตชจักรเสมา ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 11 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 มาตรา 8

ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 มาตรา 11 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83

                   เครือข่ายทุจริตถุงมือยาง

3. การกระทำของ นายมูรธาธร คำบุศย์ หัวหน้าส่วนงานการเงิน สำนักบริหารการเงิน องค์การคลังสินค้า มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2561  

4. การกระทำของ บริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด และนายธณรัสย์  หัดศรี กรรมการบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด นายศรายุทธ  สายคำมี  นางสาวปิยาภรณ์  รอดเจริญ นางสาวพิชญศรส์  เศวตศุภวัฒณ์ นางสาวกันตา สิงห์ศักติ  นายอัยวัฏฐ์  เศวตนริทร์  นางสาวสุภาวดี เอกรัตนากุล หรือ จักรบดินร์  นายชิเนนทรธรณ์ หรือชเนนทร เลิศพิพัฒน์  นายก้องหล้า  มฤคพิทักษ์  นางเฟื่องฟ้า วงศ์สินศิริกุล นายอับดุลลา ปาทาน  นายราชาทีปซิงห์  ยอน นางฉันทิศา หวง กรรมการบริษัท ไทย สไมล์ เทรด จำกัด บริษัท ไทย สไมล์ เทรด จำกัด  ร้อยตำรวจเอก นพฤทธิ์ หรือ ณรภัทร สุขแจ่ม  นางนรากร รมศรี และนางปณาลี  บุรณศิริ 

เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 11  และ มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 มาตรา 8 และ มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 

นอกจากนี้ การกระทำของ นางสาวกันตา สิงห์ศักติ ยังมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547

การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้อายัดไว้รวมเป็นเงินและทรัพย์สิน 550,643,514 บาท และที่ดินกว่า 33 ไร่ โดยขอให้อัยการสูงสุด ร้องขอให้ศาลริบทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำความผิดดังนี้

1. เงินฝากของบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด และนายธณรัสย์ หัดศรี ในบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)  ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) รวมเป็นเงินจำนวน 315,946,014.79 บาท พร้อมดอกเบี้ย

2. เงินของบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด ที่สำนักงานวางทรัพย์จังหวัดนครปฐม จำนวน 14,697,500 บาท

3. ที่ดินของบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด ตามโฉนดที่ดินตำบลท่าโรงช้าง อำเภอพุนพิน จังหวัด สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน 30 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง

4. เงินจำนวน 200,000,000 บาท ที่บริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด นำไปวางเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญากับองค์การคลังสินค้า ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งอายัดไว้

5. เงินจำนวน 20,000,000 บาท ที่บริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด จ่ายให้กับบริษัทเอกชนบริษัทหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งอายัดไว้และให้ส่งข้อมูลที่ได้จากการไต่สวนให้กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

เมื่อถามถึงการประสานข้อมูลเพื่อติดตามเงินส่วนที่เหลือ และการยึดอายัพทรัพย์สินผู้กระทำความผิดจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นายนิวัติไชย กล่าวว่า ปัจจุบัน ป.ป.ช.มีการประสานงานกับ ปปง.อยู่ตลอดเวลาในเรื่องดังกล่าว มีการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดไว้แล้วเบื้องต้นกว่า 500 ล้านบาท และที่เหลืออยู่ระหว่างติดตาม 

โดยข้อมูลของ ป.ป.ช.ปัจจุบันพบว่า เส้นทางเงินกรณีนี้มีการขยับตลอดเวลา โดยตอนนี้มีการโอนเงินจากการกระทำความผิดดังกล่าวไปไว้ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ แต่เข้าใจว่าเป็นการฟอกเงิน โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบ