1 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพบตัวแทนจาก 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย เพื่อหารือและรับฟังข้อเสนอแนะถึงนโยบายเรื่องการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ทั้งนี้ ในที่ประชุม นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ได้แสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกล ที่ได้รับการเลือกตั้งคะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1
นายพิธา ระบุว่า เป้าหมายสำคัญที่สุด คือ การกระจายความเจริญ ดังนั้นการกระจายอำนาจคือกระบวนการไปสู่การพัฒนาความเจริญ ประเทศเราเมื่อรวมศูนย์ก็จะมีแต่กรุงเทพฯ
อย่างแรก คือ การกระจายความเจริญและที่ตามมาคือการกระจายอำนาจและบุคลากร พร้อมยืนยันไม่ได้ทำสิ่งที่สุดโต่ง ต้องมีระยะเวลาและแผนแม่บท อีกทั้งต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ขณะที่ นายพิธาได้ขอบคุณที่ได้ประชุมร่วมกันในวันนี้และขอบคุณในช่วงที่ผ่านมา ในการร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่น โดยครั้งนี้จะมารับฟังอุปสรรค และมองเป้าหมายการทำงานร่วมกันในช่วง 100 วันแรก ที่จะเป็นวาระเร่งด่วน (Quickwin) ในการบริหารราชการร่วมกัน
จากนั้นในช่วง 1 ปีแรกของรัฐบาลจะกระจายความเจริญ ก่อนที่จะกระจายอำนาจ จากนั้น ในวาระ 4 ปี ตั้งเป้าว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็ว ซึ่งต้องได้สร้างความร่วมมือกันของท้องถิ่น
ทั้งนี้ วาระการประชุมเพื่อรับฟังข้อเสนอแนะแนวทางด้านการกระจายอำนาจ โดยหลักจะพูดคุยกันในเรื่องการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งเสริมกระบวนการปกครองส่วนท้องถิ่น
การกระจายอำนาจให้มีความอิสระ และกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น รวมถึงการกำหนดแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ให้กับท้องถิ่น และการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปในความเหมาะสม
รวมถึงประเด็นของวาระผู้บริหารท้องถิ่น ที่มองว่า ไม่ควรกำหนดวาระให้อยู่ดำรงตำแหน่ง คราวละ 4 ปี และติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ เพราะมองว่า ควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน เนื่องจากผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้นหากยังสามารถทำหน้าที่ และมีผลงาน ก็ควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ
การประชุมในวันนี้มีทั้งสิ้น 12 วาระ ประกอบด้วย
วาระที่ 1 ข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
วาระที่ 2 ข้อเสนอการพัฒนาการกระจายอำนาจ
วาระที่ 3 ข้อเสนอการพัฒนารายได้ท้องถิ่น
วาระที่ 4 ข้อเสนอการพัฒนารูปแบบการทำงานของท้องถิ่น
วาระที่ 5 ข้อเสนอการส่งเสริมให้ท้องถิ่นพัฒนาเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
วาระที่ 6 ข้อเสนอการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
วาระที่ 7 วาระของผู้บริหารท้องถิ่น
วาระที่ 8 การขออนุญาตเดินทางไปราชการของผู้บริหารท้องถิ่น
วาระที่ 9 ปัญหาการใช้เงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
วาระที่ 10 ขอให้ออกระเบียบหรือ ประกาศกำหนดวิธีการและระยะเวลาในการแจ้งผลการพิจารณาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
วาระที่ 11 ปัญหาอุปสรรคการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้และการขยายเวลายื่นคำขออนุญาต
วาระที่ 12 การเพิ่มค่าตอบแทนผู้บริหารท้องถิ่น