“ส.ว.สมชาย”เสนอ กกต. 5 ขั้นตอนเอาผิด “พิธา” ถือหุ้นสื่อ ITV

10 มิ.ย. 2566 | 08:58 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2566 | 09:06 น.

“ส.ว.สมชาย” เสนอ กกต. 5 ขั้นตอนเอาผิด “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ถือหุ้นสื่อ ITV ให้รับรองเป็น ส.ส.ไปก่อนแล้วชงศาล รธน. วินิจฉัยปมรู้อยู่แล้วไม่มีสิทธิสมัคร แต่ยังลงเลือกตั้ง ตามช่องทางรัฐธรรมนูญ ม. 82 พร้อมกับ ม.151 กฎหมายเลือกตั้ง

วันนี้ (10 มิ.ย. 66) นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ภาพและข้อความลงเฟซบุ๊ก หัวข้อเรื่อง “ปริศนาธรรมการเมืองเรื่องหุ้นITV” ระบุว่า

นิตินิยายนิติกรรมอำพรางเรื่องหุ้น ITV จะไปต่ออย่างไร เมื่อคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต. ไม่รับคำร้องหุ้นสื่อ ITV ของ 3 ผู้ร้องแล้ว แต่รับไว้เองในฐานะความปรากฏต่อ กกต. เพื่อดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสส. มาตราตรา 151 แล้ว ขอเสนอความเห็นเพื่อ กกต. พิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควรในขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

1.รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยเร็ว หรือ ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไม่เกิน 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

2. หลังการรับรอง ส.ส.แล้ว กกต.ต้องเป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเองในฐานะความปรากฏแก่ กกต. โดยใช้ตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า

2.1 นายพิธา ขาดคุณสมบัติ และขัดรัฐธรรมนูญตามลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98(3)

2.2 ขาดคุณสมบัติแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 88 มาตรา 89 และมาตรา 160

กรณีนี้จึงไม่จำเป็นต้องให้ ส.ส. เข้าชื่อ 1 ใน 10 ร้องต่อประธานสภา เพื่อขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 อีก เพราะความปรากฏตามที่ กกต. รับไว้เอง และกกต.ต้องสอบสวน จนมีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า นายพิธา น่ามีลักษณะต้องห้าม อันเป็นการขาดคุณสมบัติ ส.ส. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

3.กกต.ร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกับคดีอื่น ๆ ที่ผ่านมา เช่น คดีที่ กกต.ร้องคดี นายธนาธร หรือ คดีที่ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน เข้าชื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ คดีวาระ 8ปี ของ พลเอกประยุทธ์ ฯลฯ 

โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคําวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง และขอให้มีคําสั่งกําหนดมาตรการ หรือ วิธีการใด ๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 71

4.กกต.ยื่นดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าพนักงาน ตำรวจ อัยการ ในความผิดตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส มาตรา 151 ประกอบมาตรา 42 (3) ในข้อหารู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สมัครรับเลือกตั้ง หรือ ทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อของตนเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ กรณีถือหุ้นสื่อ ITV คดีนี้มีบทลงโทษจำคุก 1-10 ปี โทษปรับ 20,000-200,000 บาท และตัดสิทธิการเมือง 20 ปี

5.อัยการพิจารณาคำสั่งฟ้องตามความผิดฐานดังกล่าวต่อ นายพิธาหรือไม่

เรื่องนี้เป็นกรณีที่ กกต. ควรต้องสอบสวนและมีพยานหลักฐานให้หนักแน่นชัดเจนอย่างยิ่ง เพราะอัยการสูงสุดเคยมีคำสั่งชี้ขาดไม่ฟ้อง นายธนาธร มาแล้ว

โดยคดีดังกล่าว อัยการระบุว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสั่งฟ้อง และดูเจตนาจากพยานหลักฐานแล้ว น่าจะไม่มีความผิดกฎหมายอาญา ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของนายธนาธร ให้พ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ไปแล้ว ก็ตามแต่อัยการสูงสุดก็ยืนยันมีคำสั่งชี้ขาดไม่ฟ้อง นายธนาธร มาแล้ว 

โดยถือว่าเป็นการพิจารณากฎหมายคนละฉบับกัน

#เชื่อมั่นในหลักนิติธรรมเชื่อมั่นในศาลรัฐธรรมนูญ

#คำวินิจศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่สุดและผูกพันทุกองค์กร