โดย นายอลงกรณ์ สรุปว่า นายพิธาไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นไอทีวี จึงไม่เข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 151 และชี้ว่าคดีนี้จะจบลงในชั้น กกต.ภายใน 45วัน ข้อความที่นายอลงกรณ์โพสต์มีดังนี้
ผมติดตามเรื่องหุ้นไอทีวีและมีความเห็นส่วนตัวในฐานะอดีต ส.ส.และอดีตรัฐมนตรี จึงขออนุญาตแสดงความเห็นตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงในข้อเขียนสั้น ๆ เรื่อง “กรณีหุ้นไอทีวีจบในชั้นกกต.เรื่องง่าย ๆไม่มีอะไรซับซ้อน” ดังนี้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีการระบุไว้ในมาตรา 98(3) ซึ่งว่าด้วยคุณสมบัติที่ห้ามลงสมัคร ส.ส. โดยระบุว่า “ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ”
ดังนั้นกฎหมายลูกคือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 แก้ไขเพิ่มเติม 2566 จึงบัญญัติมาตรา 151 ความว่า “..ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ลักษณะต้องห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นสื่อ)
กรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือครองเป็นเจ้าของหุ้นไอทีวี จะเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 151ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 แก้ไขเพิ่มเติม 2566 หรือไม่
เรื่องนี้มีหลายมุมมอง แต่ตนมีความเห็นดังนี้
1.ประเด็นหุ้นไอทีวี ไม่มีอะไรซับซ้อนเพราะมีคำถามเดียวที่ต้องพิสูจน์คือ หุ้นไอทีวีเป็นของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือเป็นของกองมรดกที่นายพิธาเป็นผู้จัดการมรดก เป็นปมสำคัญที่สุด
2.การพิจารณาข้อกฎหมายเรื่องหุ้นไอทีวี ของนายพิธาคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยเฉพาะ บรรพ 6 ว่าด้วยมรดก
3.จากการประมวลข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบโดยปราศจากอคติจากทุกฝ่ายได้ความว่า นายพิธาถือหุ้นในนามผู้จัดการมรดกไม่ใช่ถือในนามส่วนตัวและในฐานะทายาทได้สละมรดกแล้วซึ่งมีผลว่าไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นตั้งแต่ปี 2550
4.เมื่อพิจารณาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงจึงสรุปได้ว่า นายพิธาไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 151
5.ดังนั้นประเด็นเรื่องหุ้นไอทีวี จะปิดสำนวนในชั้น กกต.ภายใน 30 วันหรือ 45 วัน
การพิจารณาประเด็นหุ้นไอทีวีต้องยึดหลักความยุติธรรมโปร่งใสเป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัย อย่าทำให้เป็นคดีการเมือง
"ผมสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งแข่งขันกับนายพิธาและพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่เป็นหน้าที่ที่เราต้องช่วยผดุงความยุติธรรมเมื่อเห็นว่ามีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นกับใครก็ตามแม้แต่คู่แข่งทางการเมือง เพราะความยุติธรรมที่เที่ยงธรรมจะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมือง การบริหารประเทศด้วยหลักนิติรัฐและนิติธรรมสำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทยในวันนี้และวันข้างหน้าครับ" นายอลงกรณ์ กล่าว