ประเด็นการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ล่าสุดหลังจากที่มีการเผยแพร่คลิปบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวีในประเด็นที่ว่า ไอทีวีมีการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่
กระทั่งเมื่อนายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานกรรมการไอทีวี ซึ่งปรากฎอยู่ในคลิปดังกล่าวตอบคำถามว่า "ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน" ซึ่งไม่ตรงกับรายงานการประชุม
โดยนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อพิรุธดังกล่าวนั้น เป็นการกระทำเพื่อสกัดกั้นการจัดตั้งรัฐบาลตามฉันทานุมัติของประชาชนผ่านการเลือกตั้งและมีความพยายามในการฟื้นคืนชีพไอทีวีขึ้นมาหรือไม่
ในขณะที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า รู้อยู่แล้วว่า มีขบวนการที่จะฟื้นไอทีวีขึ้นมาและมีคนส่งข้อมูลมาให้เรื่อย ๆ รวมถึงทีมกฎหมายของพรรคได้ข้อมูลมาเรื่อย ๆ
"ฐานเศรษฐกิจ" พาไปย้อนดูไทม์ไลน์ที่เกิดขึ้นไล่เรียงลำดับเหตุการณ์นับตั้งแต่วันที่ สปน. และ ไอทีวี มีข้อพิพาทเกิดขึ้น
สำหรับการหยุดออกอากาศของไอทีวี เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) มีหนังสือไปยังบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีวี เพื่อบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF (สัญญาเข้าร่วมงานฯ) พร้อมให้ระงับการออกอากาศมีผลวันที่ 7 มีนาคม 2550
ต่อมาไอทีวีได้ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเพื่อให้พิจารณาว่า การบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ ฉบับดังกล่าวของ สปน.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ในวันที่ 14 มกราคม 2559 คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดว่า การบอกเลิกสัญญาร่วมงานฯ ของ สปน. ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงให้ สปน.ชดใช้ความเสียหายให้แก่ไอทีวี รวม 2,890,345,205.48 บาท และชำระค่าตอบแทนส่วนต่าง จำนวน 2,886,712,328.77 บาท พร้อมดอกเบี้ย 3,632,876.77 บาท รวมเป็นเงินที่ไอทีวีต้องชำระให้แก่ สปน. จำนวน 2,890,345,205.48 บาท
แต่เมื่อไอทีวีและสปน. ต่างมีหน้าที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่กันเป็นเงิน 2,890,345,205.48 บาทเท่ากัน ต่างฝ่ายจึงไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันและกัน
จากนั้นในวันที่ 29 เมษายน 2559 สปน.เป็นโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยอ้างเหตุว่า คำชี้ขาดดังกล่าวนั้นไม่เป็นไปตามข้อสัญญา เกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการ และเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
กระทั่งปลายปี 2563 ( 17 ธันวาคม 2563) ศาลปกครองกลางได้พิจารณาข้อพิพาทและพิพากษาว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้นชอบด้วยกฎหมาย มีผลบังคับใช้ได้ ไม่มีเหตุให้ต้องเพิกถอนตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
ต่อมาในวันที่ 5 มกราคม 2564 สปน.ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางไปที่ศาลปกครองสูงสุด เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ. 54/2564 ซึ่งปัจจุบันคดีนี้ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด