ดร.ปริญญา ชี้ กกต. ข้ามขั้นตอน พบเงื่อนงำเกมสกัด "พิธา"

15 มิ.ย. 2566 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มิ.ย. 2566 | 09:56 น.

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ชี้ กกต. ใช้ม.151 ข้ามขั้นตอน เสี่ยงใช้อำนาจโดยมิชอบ พบเงื่อนงำเกมสกัด "พิธา" ปมพยายามคืนชีพไอทีวี ย้ำศาลรัฐธรรมนูญ และศาลฎีกา เคยวางแนวทางวินิจฉัยไว้หมดแล้ว

จากกรณีที่ปรากฏหลักฐานใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถือหุ้นสื่อหรือไม่ ทั้งคลิปบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น บริษัทไอทีวี, หลักฐานการโอนหุ้นจำนวน 42,000 หุ้นให้แก่น้องชายของนายพิธา และบันทึกท้ายรายงานงบการเงิน รวมถึงการที่ กกต. ตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการคดีอาญาตาม ม.151 ของ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. 

ฐานเศรษฐกิจ ได้มุมมองผ่านการสัมภาษณ์พิเศษ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในกรณีหลักฐานใหม่ที่ปรากฏ รวมถึงขั้นตอนการพิสูจน์ความผิดตามม.151 และการขาดคุณสมบัติสมัคร ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นสื่อ

"ม.151 เป็นความผิดอาญา มีโทษจำคุก 1-10 ปี ทั้งยังตัดสิทธิ์เลือกตั้งถึง 20ปี ความผิดตามมาตรานี้คือ รู้ หรือควรรู้อยู่แล้วว่าตนเองขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้าม แล้วยังมาสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. พูดง่ายๆ ว่า ตนเองรู้อยู่แล้วว่าตนเองขาดคุณสมบัติ แล้วมาหลอก กกต.

เพราะฉะนั้นในกรณีนายพิธา ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า บริษัทไอทีวี เป็นสื่อมวลชนหรือไม่ และนายพิธาถือหุ้นหรือเปล่า ซึ่งหากนำกรณีนายชาญชัยมาประกอบ มีคำพิพากษาว่าถือหุ้นน้อย ไม่นับเป็นการถือหุ้น 

การวินิจฉัยความเป็นสื่อมวลชนนั้น ได้มีคำพิพากษาที่ได้วางหลักเอาไว้แล้วว่า ไม่ได้ดูเพียงวัตถุประสงค์ แต่ต้องดูว่าผลประกอบการจริงหรือไม่ มีรายได้จากการทำสื่อหรือไม่ ดังนั้นกรณี ไอทีวี ที่มีบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 ไม่ตรงกับคลิปบันทึกการประชุม เรียกว่าเป็นหนังคนละม้วนกัน"  อ.ปริญญาอธิบาย


คดีตัวอย่าง คือ กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสิระ เจนจาคะ ในกรณีนายสิระ ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถวินิจฉัยได้เลย เนื่องจากปรากฏหลักฐานชัดเจน เป็นคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลว่ามีลักษณะต้องห้าม

ส่วนกรณีนายธนาธร มีการนำสืบอยู่นานว่า วีลัค มีเดียเป็นสื่อหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า วีลัค มีเดียเป็นสื่อ และสั่งให้นายธนาธรพ้นจากตำแหน่ง นับตั้งแต่วันที่รับคำร้อง เมื่อศาลสั่งให้พ้นตำแหน่ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงได้ดำเนินคดีตามพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส. มาตรา 151 

อำนาจผู้วินิจฉัยเป็นของใครนั้น อ.ปริญญาอธิบายต่อไปว่า ศาลที่มีอำนาจในการพิจารณา เรื่องลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. มีด้วยกันหลายศาล โดยหากเป็นการวินิจฉัยก่อนวันเลือกตั้ง จะอยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง และเมื่อมีการประกาศรับรองผลเป็นส.ส.แล้ว อำนาจวินิจฉัยจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

ด้านหลักฐานที่ใช้เพื่อการวินิจฉัย เอกสารนับเป็นหลักฐานชั้นต้นอยู่แล้ว แต่เอกสารสามารถถูกหักล้างได้ ซึ่งในกรณีนี้ ถูกหักล้างด้วยคลิป ซึ่งคลิปน่าเชื่อถือหรือไม่ ก็ต้องดูว่าคลิปเป็นคลิปจริงหรือไม่ มีการตัดต่อหรือไม่ และหากคลิปที่มีการเผยแพร่กันนี้ไม่ใช่คลิปจริง ทางผู้บริษัทไอทีวี และบริหารก็ต้องนำคลิปจริงออกมายืนยัน หรืออธิบายว่าเหตุใดคลิปจึงไม่ตรงกับเอกสารที่บันทึก

และในกรณีนี้ บันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ถือว่าอ่อนปวกเปียก เหตุเพราะเมื่อสาธารณชนรับทราบ บริษัทแม่ของไอทีวี คืออินทัช ที่ถือหุ้นใหญ่ มีอำนาจสั่งการดำเนินการ โดยกรรมการอำนวยการของบริษัทอินทัช ได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการ สั่งมาที่คณะกรรมการบริหารบริษัทไอทีวี ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้

เงื่อนงำที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ และส่งผลให้เอกสารบันทึกการประชุมอ่อนลงไปอีก นั่นก็คือ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการอำนวยการอินทัช, ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทไอทีวี และผู้ที่เป็นประธานที่ประชุม พร้อมเซ็นรับรองรายงานการประชุม เป็นคนเดียวกันหมด จึงควรชี้แจงและนำหลักฐานจริงมาหักล้าง แทนที่จะเป็นการสั่งตนเองให้ดำเนินการตรวจสอบตนเอง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความน่าสงสัย และไม่น่าเชื่อถือ

 


สำหรับการดำเนินคดีอาญา ตามมาตรา151 ของพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. โดยกกต.ในขณะนี้นั้น ดูจะเป็นการดำเนินการที่ข้ามขั้นตอน เนื่องจากในความปกติของคดีที่ผ่านมา ต้องมีความชัดเจนก่อนว่าผู้นั้นมีลักษณะต้องห้าม ตัวอย่างกรณีที่มีความชัดแจ้ง เช่นใช้วุฒิการศึกษาปลอม เช่นนี้สามารถดำเนินการได้เลย แต่หากเป็นกรณีที่ไม่มีความชัดแจ้ง กกต.จะต้องรอศาลชี้ขาดก่อนเสมอ เช่นกรณีนายธนาธร ที่ผ่านมา

ในกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถือหุ้นวีลัคมีเดีย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าเป็นการถือหุ้นสื่อ ทำให้นายธนาธรขาดคุณสมบัติแล้ว กกต.จึงดำเนินการฟ้องม.151 ซึ่งท้ายสุดอัยการไม่สั่งฟ้อง ด้วยเหตุว่าหลักฐาน กกต.ไม่เพียงพอต่อการดำเนินคดีอาญา ม.151

การที่กกต. ดำเนินการตาม ม.151 เป็นเหมือนการพิพากษาไปแล้วว่า นายพิธา ถือหุ้นสื่อ ซึ่งควรต้องส่งให้ศาลเป็นผู้พิพากษา เพราะยังมีความไม่ชัดเจนอยู่ ไม่ควรพิพากษาด้วยตนเอง เพราะหากเป็นเช่นนี้ กกต.กำลังหมิ่นเหม่กับการใช้อำนาจโดยมิชอบ

ซึ่งเชื่อว่า กรณีนายพิธา เมื่อไปถึงชั้นอัยการจะไม่สั่งฟ้องแน่นอน เพราะความเป็นสื่อของไอทีวีนั้นก็ยังไม่มีความชัดเจน และหลังจากถูกบอกเลิกสัญญา โดย สปน.ไปแล้ว ก็ไม่ได้ประกอบกิจการการสื่อใดๆ คงสถานะไว้เพียงเพื่อการต่อสูhคดี ซึ่งการดำเนินกิจการสื่อก่อนวันที่ 26 เมษายน 2566 ก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน 

จึงเป็นข้อสงสัยว่า การที่กกต.ดำเนินคดีอาญา ม.151 แบบข้ามขั้นตอนเช่นนี้เจตนาคืออะไร เพราะหากพิจารณาขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ส.ว.จะต้องโหวตด้วยนั้น การที่ผู้ถูกเสนอชื่ออย่างนายพิธา มีคดีอาญาอยู่ อาจถูกใช้เป็นอีกสาเหตุในการไม่โหวตให้นายพิธา เป็นนายกฯ และไม่แน่ว่าการฟ้องอาญา ม.151 อาจไม่ออกจากมือ กกต. ไปถึงอัยการด้วยซ้ำ

การนำเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่นการมีหุ้นเพียง 0.0035% มาทำให้เป็นเรื่อง ดูจะเป็นการคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนน้อยเกินไป และในมุมมองฐานะนักกฎหมาย ตนมองว่านายพิธา ไม่ผิด เพราะถือหุ้นเพียง 0.0035% ในฐานะของผู้จัดการมรดก ส่วนไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่ ก็ต้องพิสูจน์กันต่อไป แต่ตนมองว่าไม่ใช่ แต่กลายเป็นฟื้นคืนชีพขึ้นมาในภายหลัง ฉะนั้นการนำเรื่องไม่เป็นเรื่องมาทำให้นายพิธามีความผิดนั้น เหมือนเป็นการพยายามตั้งธงไว้แล้ว