แหล่งข่าวจาก บริษัท โกล บอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เปิดเผยว่า เรื่องของอดีตผู้บริหาร บริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด (TOL) ได้ร่วมกับบริษัทเอกชน กระทำความผิด โดยได้มีการจัดซื้อวัตถุดิบ (CPO) ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด (Market Price) ในขณะนั้น และสูงมากเกินกว่าปกติ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน ทำให้ขาดทุนหลายร้อยล้านบาทนั้น
จากสำนวนการสอบสวนอดีตประธานบอร์ด TOL ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด (TOL) จะมีการรายงานผลประกอบการอย่างน้อยทุกไตรมาสให้กรรมการบริหารได้รับทราบ ปรากฏว่าช่วง ปี 2551 มีผลประกอบการที่ขาดทุน ประธานบอร์ด TOL จึงได้ตั้งกรรมการสอบสวน
พบมีผู้บริหารส่อทุจริต ได้ร่วมกับบริษัทเอกชน ในการซื้อสินค้าในราคาสูงผิดปกติเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอกชนทำให้ TOL เสียหายมากกว่า 300 ล้านบาท
ส่วนจะมีใครร่วมกระทำความผิดนั้น ต้องไปดูผลการสอบสวน ซึ่งผู้ว่าการ ปตท.สมัยนั้น และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด(มหาชน) ในสมัยนั้นรู้ดี จึงได้ปลดฟ้าผ่าผู้บริหาร TOL ไปประจำการที่ประเทศมาเลเซีย จากผลของการทุจริตมากกว่า 300 ล้านในคราวนั้น ปัจจุบันผู้บริหารคนดังกล่าวได้กลับมาเป็นใหญ่เป็นโตที่ GGC เนื่องจากมีผู้ใหญ่ใน ปตท. และบริษัทเอกชนให้การสนับสนุน
ต่อมามีการกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้อีกหลายครั้งหลายหน หลังจากที่มีคณะผู้บริหารชุดใหม่มาแทนผู้บริหารเดิม ที่ลาออกในเดือน มิถุนายน 2561 ในช่วงระยะเวลาปลายปี 2561 – 2563 มีการกระทำความผิดลักษณะเดียวกันกับ ปี 2550 – 2552
ยกตัวอย่างเช่น วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ประกาศกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดราคาซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) กิโลกรัมละ 29.50 – 30.50 บาท บริษัท ป. เทรดดิ้ง ซื้อ CPO จาก บริษัท ศรีเจริญปาล์มออยล์ จำกัด ในราคา กิโลกรัมละ 29.50 บาท (เป็นไปตามประกาศ) แต่ GGC กลับซื้อ CPO จาก บริษัท ป. เทรดดิ้ง จำนวน 2,650,000 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 37.19 บาท สูงกว่าราคาประกาศ 6.69 -7.69 บาท ต่อกิโลกรัม ทำให้มีผลต่างหรือขาดทุนทันทีในวันดังกล่าวเป็นเงินจำนวนมากถึง 17.73 – 20.38 ล้านบาท
โดยปกติทางการค้าแล้ว ผลต่าง หรือ กำไรอยู่ที่ประมาณ 20 - 50 สตางค์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประกาศของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ หากมีผลต่างมากถึง 6 – 7 บาท ย่อมเป็นการซื้อขายที่ผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริต
สิ่งที่ผิดปกติอย่างมากคือ ผู้บริหาร บริษัท GGC ในช่วงปลายปี 2561 – 2563 เป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันกับผู้บริหารของ TOL ในปี 2550 – 2551 อาจมีการร่วมกันกระทำความผิดในลักษณะเดียวกัน เป็นกระบวนการโดยกลุ่มบุคคลเดียวกัน
เรื่องดังกล่าว เป็นการร่วมกันเข้าข่ายฉ้อโกง อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ เข้าข่ายลักษณะการฟอกเงิน ไม่มีอายุความ มีการปกปิดการกระทำความผิด ไม่ดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้อง และไม่ดำเนินการฟ้องคดีแพ่งกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ปรากฏความเสียหายชัดเจน คาดว่าการกระทำทั้ง 2 ช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ GGC เสียหายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
ทั้งนี้ เรื่องอยู่ในระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทราบข่าวอย่างไม่เป็นทางการมาว่า อาจจะมีการปกปิดพยานหลักฐาน หรือทำลายพยานหลักฐานเพื่อช่วยเหลือผู้หนึ่งผู้ใดให้พ้นผิด แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากปรากฏหลักฐานการสอบสวนอย่างชัดเจนแล้วในอดีด และ เจ้าหน้าที่สามารถสอบสวนรวมรวมแสวงหาข้อเท็จจริงได้โดยง่ายจากผู้ค้าหลายราย สถาบันการเงิน และเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายใน และผู้ที่เกี่ยวข้อง