ด่วน กกต.ยังไม่มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ ปม "พิธา" ถือหุ้นไอทีวี ถกใหม่พรุ่งนี้

10 ก.ค. 2566 | 09:37 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2566 | 11:34 น.

อิทธิพร บุญประคอง  ประธาน กกต. เผยยังไม่มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ กรณี "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ถือหุ้นไอทีวี นัดประชุมต่อในวันอังคารและพฤหัสนี้  

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.  เปิดเผยว่า ในการประชุม กกต.วันนี้ ที่ประชุมยังไม่ได้มีการลงมติเรื่อง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถือครองหุ้นไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น เข้าข่ายลักษณะต้องห้าม ไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82

เพียงแต่เป็นการติดตามความคืบหน้าของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ได้รายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุม กกต.รับทราบ เท่านั้น

สำหรับวันนี้ ที่ประชุม กกต.ใช้เวลาประชุมตั้งแต่เวลา 13.00 น. และเลิกประชุมในเวลา 16.00 น. โดยไม่มีการแถลงใดๆ แต่มีรายงานว่ามีการนัดประชุมต่อในวันพรุ่งนี้ (11 ก.ค.) เวลา 10.00 น.  และวันที่ 13 ก.ค. ในเวลา  9.00 น.

เย็นวันเดียวกัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายรัฐมนตรีของพรรค ให้สัมภาษณ์กรณีการส่งหนังสือเชิญไปชี้แจงเรื่องหุ้นไอทีวี จาก กกต.นั้นว่า  กกต.ยังไม่มีหนังสือส่งไปที่พรรค และยังไม่มีที่บ้าน

เท่าที่ติดตามจากสื่อมวลชน ก็ไม่มีหมายเรียก ไม่มีการมห้เข้าไปชี้แจงแบบฉับพลัน และเท่าที่ทราบก็ยังไม่มีตรงจาก กกต.ไปที่พรรค แม้ตนเองก็ไม่ได้เข้าพรรคแต่ก็มีทีมกฎหมายที่สแตนบายไว้ และที่บ้านก็ให้คนคอยดูไว้หากมีเรื่องที่ต้องรีบไปชี้แจง ก็ต้องจะไปชี้แจง

ส่วนที่ มีข้อสังเกตว่า กกต. หากจะมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่เปิดให้ชี้แจงจะถือว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่นั้น มองว่า หากมีการตัดสินโดยยังไม่ได้ให้เข้าไปชี้ จะไม่เป็นธรรมต่อตัวเองมากน้อยแค่ไหนนั้น มองว่า จริงๆขัดอยู่กับระเบียบของกกต.ที่มีอยู่อย่างชัดเจน กระบวนการมีขั้นตอน

แต่ครั้งนี้เหมือนกับว่า มีการเร่งรัดเข้ามาเหมือนที่ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้ให้สัมภาษณ์ไปเมื่อเช้า ซึ่งก็มีคงสิ่งที่จะต้องเรียกร้องเรื่องความเป็นกลางและความเป็นธรรมของกกต.พอสมควร

เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ หากจะมีการเลื่อนวันโหวตนายกออกไป นายพิธา ระบุว่า เห็นข่าวแต่ยังไม่ได้อ่านในรายละเอียดของวุฒิสภา แต่ก็มองว่าเป็นเรื่องของประธานสภา ที่จะต้องวินิจฉัย และสภาโดยรวมว่าจะบริหารจัดการอย่างไร คงไม่ได้เป็นเรื่องที่ตนจะให้ความเห็นได้