มติ พปชร.ไม่โหวตนายก แก้ ม.112 เปิดทาง"เพื่อไทย”ตั้งรัฐบาลถ้าเกิดอะไรขึ้น

11 ก.ค. 2566 | 11:56 น.
อัพเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2566 | 12:20 น.

มติ พปชร. ไม่เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ไม่โหวตให้คนที่คิดแก้ ม.112 “ธรรมนัส”ลั่นถ้าเกิดอะไรขึ้น พร้อมเปิดทาง “เพื่อไทย” อันดับสอง ฟอร์มรัฐบาล

วันนี้(11 ก.ค. 66) ที่พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา แถลงภายหลังการประชุม ส.ส. ว่า ทาง พปชร.มีการประชุมพรรค โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพปชร.  คณะกรรมการบริหารพรรค คณะกรรมการยุทธศาสตร์ ส.ส. และทุกฝ่ายเข้าร่วม โดยสาระสำคัญได้แก่ 

1.การเลือกผู้แทน ซึ่งเป็น ส.ส.ของ พปชร.ในการทำหน้าที่ประสานกับพรรคอื่นๆ ซึ่งเวลานี้ยังไม่รู้ว่าพรรคเราอยู่ในสถานะใด โดยผู้ทำหน้าที่ประสานดังกล่าว มีตน เป็นประธาน นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร เป็นรองประธานคนที่ 1 นายอรรถกร ศิริลัทยากรส.ส.ฉะเชิงเทรา รองประธานคนที่ 2  

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ประเด็นที่สอง พปชร.มีจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่เสนอผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยใช้เสียงข้างน้อยอย่างเด็ดขาด และ 3.เราจะไม่โหวตให้กับผู้ที่จะมาดำรงนายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายในการแก้ไขมาตรา 112 อย่างเด็ดขาด 

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวด้วยว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เราเป็นพรรคที่มี ส.ส.อยู่ลำดับที่ 4 ดังนั้น ขั้นตอนต่อไป หากเกิดอะไรก็ขึ้น เราต้องให้พรรคที่มีเสียงรองลงมาในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนกรณีว่าหากพรรคที่มีเสียงรองลงมา มาติดต่อ พปชร.ในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น พปชร.ก็จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.อีกครั้งเพื่อขอมติพรรค 

“จากประสบการณ์ทางการเมืองของผม เรื่องของรัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วย ส.ส. และ ส.ว. 750 คน ที่จะลงฉันทามติในเสียงของเขาว่าจะเลือกใคร ดังนั้น จะให้ได้ดังใจมันคงเป็นไปไม่ได้ มันต้องยึดตามหลักกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราเคารพเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา ซึ่งผมเชื่อว่าทุกอย่างจะลงเอยด้วยดี ซึ่งต้องใช้เวลา”

ส่วนกรณีว่าควรที่จะโหวตนายกฯ ให้จบภายในครั้งเดียวหรือไม่นั้น ให้เป็นกลไกของรัฐสภา ส่วนตัวก็อยากให้จบในทีเดียว แต่เมื่อไม่จบก็ต้องให้เวลา เช่นเดียวกันทุกอย่างต้องใช้เวลา 

“ถ้าสมมติว่าครั้งแรกไม่ผ่านก็ต้องให้โอกาสพรรคอันดับสอง (พรรคเพื่อไทย)  ในการรวบรวมพรรคร่วม ถ้าพรรคอันดับสองไม่ผ่านก็ให้พรรคอันดับสาม” 

ฉะนั้น เราจะไม่มีการแทรกแซงเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด ซึ่งเป็นนโยบายของหัวหน้าพรรค พปชร. และคณะกรรมการบริหารพรรค ที่มีฉันทามติเป็นอย่างนี้  แต่ทุกอย่างก็เป็นเรื่องของประธานรัฐสภา ซึ่งมีกฎหมายอยู่ เป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภา ที่จะไปคุยกัน วันนี้ในที่ประชุมก็มีการเอาประเด็นนี้มาพูดคุยกัน โดยวันที่ 12 ก.ค.คงจะมีความชัดเจนมากขึ้น