"อนุสรณ์" แนะ 8 พรรคร่วมยึดมั่น MOU ติง ส.ว. เคารพฉันทามติ ปชช.

16 ก.ค. 2566 | 12:23 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2566 | 12:23 น.

"อนุสรณ์ ธรรมใจ" แนะ 8 พรรคร่วมยึดมั่น MOU ขอ ส.ว. เคารพฉันทามติ ปชช. หลีกเลี่ยงการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งนำไปสู่ความรุนแรง ชี้หากพรรคก้าวไกลตั้งรัฐบาลไม่ได้ ดันพรรคเพื่อไทยขึ้นแทน

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองว่า พรรคการเมือง 8 พรรคประชาธิปไตยควรยึดมั่นต่อ MOU และเจตนารมณ์ของประชาชน โดยเฉพาะ "พรรคก้าวไกล" และ "พรรคเพื่อไทย" ต้องรักษาความเป็นเอกภาพ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการพยายามอย่างเต็มที่ในการจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้

เพราะการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว จะทำให้ประชาชนเสียงข้างมากผิดหวัง และทำให้ขบวนการประชาธิปไตยทั้งขบวนอ่อนแอลง และพรรคการเมืองต่างๆ ต้องยืนยันไม่สนับสนุนจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งผิดหลักการประชาธิปไตย และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่

ส่วนการ โหวตนายกฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา ส.ว. ส่วนใหญ่ได้ทำลายเจตจำนงของประชาชน ตามประชาธิปไตยไปอย่างสิ้นเชิง และทำให้ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้

สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจและเกิดความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาของประชาชน โดยใช้ข้ออ้างเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สร้างความแตกแยกในสังคม

"ส.ว.ต้องตระหนักว่า การกระทำที่ไม่ยอมรับฉันทามติของประชาชน จะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมายต่อประเทศ และประชาชน ระบบการเมืองอันบิดเบี้ยวภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560
แนวทางเดียวที่วุฒิสมาชิกจะสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นกับรัฐบาลใหม่ ก็คือ การลงคะแนนเสียงที่สอดคล้องกับเสียงของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่การออกเสียงสวนทาง งดออกเสียง หรือขาดประชุม" นายอนุสรณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามการแสวงหาทางออกจากข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องพยายามทำผ่านกลไกรัฐสภา หลีกเลี่ยงการชุมนุมทางการเมืองใดๆ อันอาจนำไปสู่ความเสี่ยงวิกฤตการณ์ทางการเมือง หรือสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจของประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ

รวมทั้งหาก พรรคก้าวไกล ในฐานะแกนนำทำเต็มที่เพื่อจัดตั้งรัฐบาล และเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ควรสลับให้ พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล เพื่อรักษาเจตนารมณ์ของประชาชน

นอกจากนี้เพื่อให้รัฐบาลใหม่สามารถบริหารงาน โดยไม่ต้องเผชิญนิติสงคราม และการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม ผ่านองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญตลอดเวลา จึงเสนอให้รัฐสภาออกคำสั่งทางกฎหมาย ให้การดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ป.ป.ช. และกรรมการในองค์กรอิสระ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ และมาจากระบบการคัดเลือกของ คสช. พ้นจากตำแหน่ง

และให้มีกระบวนการสรรหาและคัดเลือกใหม่ ที่มีที่มาจากระบบการคัดเลือกที่ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน ซึ่งการสรรหาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ได้กระบวนการที่เชื่อมโยงกับประชาชนมากขึ้น ป้องกันการใช้นิติสงครามสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลใหม่