เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 แหล่งข่าวสมาชิกระดับสูงของ กองกำลังกะเหรี่ยงคะยา ( KA ) เปิดเผยถึงสถานการณ์ การสู้รบในรัฐคะยาว่า เมื่อวานที่ผ่านมา ได้มีการสู้รบระหว่าง กองกำลัง KA และ KNDF ปะทะกับทหารเมียนมาสังกัด กองพัน ทหารราบเบาที่ 80 พล.ร.เบาที่ 66 ที่ถูกส่งกำลังทางอากาศเข้าพื้นที่ดังกล่าว บริเวณพื้นที่ค่ายป่าตึง โดยได้มีการปะทะกันอย่างหนัก
ในระหว่างที่มีการสู้รบอยู่นั้น ทางกองทัพอากาศเมียนมา ได้ส่งเครื่องบินแบบ MIG-29 มาทิ้งระเบิดจำนวน 1 เที่ยวบิน
นอกจากการสู้รบที่ ค่ายป่าตึง ( อดีตค่ายฝึกทหารกองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF ) ที่บริเวณบ้านกะยะต่าหย่า อ.ดีมอร์โซว์ ซึ่งอยู่ห่างทางด้านทิศใต้ของ จ.ลอยก่อว์ ประมาณ12 กม.ทหารเมียนมาได้ทำการโจมตี กองกำลัง KA , KNDF และ PDF ที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ดังกล่าวอย่างหนัก
ขณะที่ทางกองทัพอากาศเมียนมา ได้มีการปฏิบัติการทิ้งระเบิดเช่นกัน ทำให้มีราษฎรชาวคะยาหนีภัยลงมาอาศัยอยู่ในป่า บริเวณพื้นที่ อ.ฟลูโซว์ ที่อยู่ติดกันเป็นจำนวนมาก และอยู่ภายใต้การดูแลของ ศูนย์รองรับผู้พลัดถิ่นภายใน (IDPs: Internaly Displace Person) อ.ฟลูโซว์ จ.ลอยก่อว์ รัฐคะยา
สำหรับสถานการณ์บริเวณพื้นที่ตรงข้าม อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ทหารเมียนมาที่ยังคงปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ มีจำนวน 6 กองพัน ประกอบด้วย กองพันทหารราบที่ 134 , กองพันทหารราบที่ 135 , กองพันทหารราบเบาที่ 54 , กองพันเคลื่อนที่เร็วที่ 510 , กองพันเคลื่อนที่เร็วที่ 519 และ กองพันเคลื่อนที่เร็วที่ 334
ทั้ง 6 กองพันในขณะนี้ไม่สามารถปฏิบัติการทางทหารต่อกองกำลัง ทหารกะเหรี่ยงคะยา KA ได้แต่อย่างใด และถูกซุ่มโจมตี จนกำลังพลสูญเสียทุกวัน ส่วนการส่งเสบียงอาวุธและอาหารทำได้ทางอากาศเท่านั้น
เนื่องจากเส้นทางทางบก ได้ถูกกองกำลังกะเหรี่ยงคะยา ควบคุมไว้ทุกเส้นทาง โดยทางการเมียนมาพยายามส่งกองพันทหารราบเข้ามาสนับสนุน ซึ่งมาจากกองพลทหารราบเบา ที่ 55 จ.ลางเคือ รัฐฉาน โดยพยายามเข้ามาทางด้านทิศตะวันออกของดอยสามเมือง ตรงข้ามบ้านรักไทย ต.หมอกจำแป่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน แต่ก็ไม่สามารถเคลื่อนกำลังเข้ามาในพื้นที่ของรัฐคะยาได้แต่อย่างใด
ปัจจุบัน ยังคงมีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา เชื้อสายคะยา ( ผภสม.) เข้ามาอาศัยในประเทศไทยในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 8,991 คน ประกอบด้วย 1. พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บ.เสาหิน ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง จำนวน 3,530 คน (ชาย.1,694, หญิง.1,836) 2. พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บ.พะแข่ ต.แม่กี๊ อ.ขุนยวม จำนวน 866 คน (ช.454, ญ.412)
3. พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บ.จอปร่าคี ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จำนวน 510 คน (ช.260, ญ.250) 4. พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บ.อุนู ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จำนวน 316 คน (ช.168, ญ.148) และ 5. พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บ.ใหม่ในสอย ต.ปางหมู อ.เมืองจำนวน 3,769 คน (ชาย 1,702, หญิง 2,067)
อัศวิน พินิจวงษ์ : รายงาน