วันนี้ (19 ก.ค. 66) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายก รัฐมนตรี พรรคก้าวไกล สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา101(6)ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 หุ้น
โดยเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสี่ ประกอบวรรคหนึ่ง และพ.ร.ปว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 75 โดยให้ นายพิธา ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้เข้ากล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพ.ร.ปว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 54
สำหรับคำขอของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ นายพิธา ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรค 2 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า มีกรณีตามที่ถูกร้องประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของ นายพิธา อาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมรัฐสภา และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้
จึงมีคำสั่งให้ นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส. ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ที่พิจารณาคดี นายพิธา ประกอบด้วย
1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาล
2.นายปัญญา อุดชาชน
3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม
4.นายจิรนิติ หะวานนท์
5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน
7.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
8.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
9.นายนภดล เทพพิทักษ์
ทั้งนี้กรณีดังกล่าวเมื่อวันที่12 ก.ค. ที่ประชุมกกต.มีมติด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 1 เห็นว่ากรณีมีหลักฐานปรากฏว่า นายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดในวันสมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพส.ส. ของ นายพิธา สิ้นสุดลง จึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย และได้มีการยื่นคำร้องในบ่ายวันเดียวกัน