วันนี้ (31 ส.ค.66 ) ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1528/2564 ลงวันที่ 25 มิ.ย. 2564 ที่ให้นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (นายกอบจ.สงขลา) พ้นจากตำแหน่งในวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. 2556 ถึงวันที่ 27 มิ.ย.2562
โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่มีคำสั่งดังกล่าว และให้คำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1528/2564 มีผลต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูล นายนิพนธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกอบจ.สงขลา กรณีละเว้นไม่จ่ายเงินค่าจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์จำนวน 2 คัน มูลค่า 50 ล้านบาทเศษ ให้แก่ บริษัทพลวิศว์ เทค พลัส จำกัด เหตุเกิดปี 2556 ทำให้ รมว.มหาดไทย ลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง
โดยมีคำสั่งเมื่อปี 2564 ปลด นายนิพนธ์ พ้นจากตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา ซึ่ง นายนิพนธ์ เห็นว่า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ยื่นฟ้อง ป.ป.ช .และรมว.มหาดไทย ต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว
ส่วนที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงมหาดไทยระบุเหตุผลว่า "การทุจริตต่อหน้าที่" ตามบทนิยามมาตรา 4 พ.ร.ป.ว่าด้วยป.ป.ช.2642 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะเกิดการกระทำความผิดนั้น ต้องมีเจตนาพิเศษ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
ทั้งนี้ ป.ป.ช.กล่าวหาว่า นายนิพนธ์ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย หรือสัญญาทำให้ บริษัท พลวิศว์ เทคพลัส จำกัด ได้รับความเสียหาย และภายหลังการไต่สวนป.ป.ช.มีมติเสียงข้างมาก ว่า นายนิพนธ์ ในฐานะนายก อบจ.สงขลา ซึ่งเป็นผู้ซื้อ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาที่จะต้องอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้ บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด
และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ อบจ.ผู้ใดเสนอความเห็นให้ นายนิพนธ์ ไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถให้แก่ บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด หรือ ได้มีการยกเลิกสัญญาซื้อขายรถทั้ง 2 คันแต่อย่างใด
การที่ นายนิพนธ์ ไม่อนุมัติเบิกจ่ายเงินถ้าซื้อรถทั้ง 2 คัน จึงเป็นการตัดสินใจของ นายนิพนธ์ โดยลำพัง ซึ่งการไม่เบิกจ่ายเงินให้ บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นไต่สวน ว่า การกระทำดังกล่าวของ นายนิพนธ์ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย อันจะทำให้การกระทำของ นายนิพนธ์ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่
โดย ป.ป.ช.ก็มีมติว่า การกระทำของ นายนิพนธ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเท่านั้น มิได้มีมติว่า เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายดังกล่าวฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแต่อย่างใด จึงเป็นกรณีที่ป.ป.ช. มิได้มีมติว่าการกระทำของ นายนิพนธ์ มีมูลทุจริต
การที่ป.ป.ช.มีมติชี้มูลว่า นายนิพนธ์ มีมูลความผิดฐานละเลยไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ หรือ ปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือ ประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 79 ซึ่งเป็นความผิดฐานอื่นที่ไม่อยู่ในอำนาจของป.ป.ช.จึงไม่ผูกพัน รมว.มหาดไทย(มท.1) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้นายนิพนธ์พ้นจากตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา
นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน วิธีการและกระบวนการสอบสวน นายนิพนธ์ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่กลับอาศัยรายงาน เอกสาร และความเห็นของ ป.ป.ช. แล้วรายงานต่อ รมว.มหาดไทย ซึ่งต่อมาได้มีคำสั่งให้ นายนิพนธ์ พ้นจากตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา ตามฐานความผิดที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการกระทำโดยไม่ถูกต้อง ตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือ วิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น
ภายหลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา นายนิพนธ์ ได้กล่าวขอบคุณศาลปกครองฯ ที่คืนความยุติธรรมให้ พร้อมกับยืนยันว่า สิ่งที่ได้ทำนั้น ได้ทำตามขั้นตอนระเบียบกฎหมายอย่างถูกต้อง โดยการที่ไม่อนุมัติจ่ายเงินให้กลุ่มผู้ฮั้วประมูลนั้น เป็นการรักษาผลประโยชน์ให้กับทางราชการ และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับแผ่นดิน