“บิ๊กต่อ”จ่อถกมหาดไทย คุมนำเข้า“ปืนแบลงค์กัน”

04 ต.ค. 2566 | 05:28 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2566 | 05:45 น.

“บิ๊กต่อ ” เตรียมประสานมหาดไทย หารือปมนำเข้า" ปืนแบลงค์กัน"เป็นอาวุธ หลังพบใช้ก่อคดีหลายครั้ง แต่ซื้อได้ไม่ผิดกฎหมาย

จากกรณีเกิดเหตุเยาวชนใช้อาวุธปืนกราดยิงภายในห้างดัง ล่าสุดวันนี้ (วันที่ 4 ต.ค.66)พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.เปิดเผยว่า เรื่องที่เกิดขึ้นกับเยาวชนต้องฝากถึงผู้ปกครอง ให้เฝ้าระวังบุตรหลาน โดยสามารถสังเกตุได้จากการโพสต์ข้อความในสื่อโซเชียล เพราะทำให้เราพอจะรู้ได้ว่า เขามีโอกาสที่จะก่อเหตุได้มากน้อยแค่ไหน เด็กอาจถูกกดดันในหลายๆด้าน

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า สำหรับข้อความที่เยาวชนที่ก่อเหตุที่มีการโพสต์ข้อความนั้น คาดว่าจะมีส่วนในการผลักเด็กให้กระทำความรุนแรง ซึ่งเรื่องนี้ทางพนักงานสอบสวนจะต้องมีการสอบเพื่อนของผู้ก่อเหตุ เพื่อให้รู้ถึงพฤติกรรมก้าวร้าวที่เกิดขึ้น

และจะได้วางแนวทางในการป้องกันเหตุ เฝ้าระวังคนในลักษณะแบบนี้ เป็นกรณีตัวอย่างที่เราต้องศึกษา รวมถึงเพื่อนที่ร่วมเล่นเกมเดียวกันกับผู้ก่อเหตุด้วย เพราะเพื่อนที่เล่นเกมด้วยกัน น่าจะรู้ข้อมูลเฉพาะตัวบางอย่างของผู้ก่อเหตุ

"เหตุที่เกิดในห้างสยามพารากอน ต้องถือว่ามีความโชคดีอยู่บ้างที่ก่อนหน้านี้ได้มีการส่งครูฝึก ใน"โครงการแอคทีฟ ชู้ตเตอร์" เมื่อประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ทางพนักงานห้างฯ สามารถที่จะป้องกันเหตุได้เบื้องต้น เพราะขณะเกิดเหตุแต่ละร้านทางพนักงานร้านได้มีการปิดประตู กันคนออกมาข้างนอกร้านได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเตรียมการ มีการสอนไว้แล้ว เป็นการทำเชิงรุก สามารถที่จะช่วยเหลือชีวิตผู้คนได้"

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.

สำหรับปืนที่ใช้ก่อเหตุนั้น พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ระบุว่า เป็นปืนในรูปแบบ "แบลงค์กัน" ตามสถิติพบว่ามักจะใช้ในการก่อเหตุหลายครั้ง ซึ่งเรื่องนี้จะต้องทำการประสานงานกับทางกระทรวงมหาดไทย เพราะปืนในรูปแบบนี้ถือเป็นอาวุธ แต่สามารถซื้อได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เราพบว่ามีการนำเข้ามาจำนวนเยอะมาก และใช้ก่อคดี

"ปืนชนิดนี้ มีการนำเอามาดัดแปลง ลำกล้อง และดัดแปลงแมกกาซีน สามารถใช้กระสุนจริงได้ ต้องประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา ควรจะกำหนดให้เป็นสิ่งต้องห้าม ถือเป็นอาวุธ การนำเข้าในแต่ละครั้งควรที่จะต้องมีการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รวมไปถึงการเข้าถึงเว็บต่างประเทศ ที่มักมีการเผยแพร่ การสอนใช้อาวุธต่างๆ ซึ่งต้องไปคุยหน่วยงานเกี่ยวข้อง ถึงการเข้าถึงข้อมูล ว่าสิ่งไหนถือเป็นภัยความมั่นคง ที่ผ่านมาทำได้ยาก เพราะเว็บเหล่านี้อยู่ต่างประเทศ แต่เราก็ควรเฝ้าระวัง เพราะคนเสพข้อมูลในลักษณะนี้จำนวนมาก"