แผนเปลี่ยนประธานบอร์ดปตท. ต้องรอรัฐบาล “เศรษฐา” คัดเลือก

21 ต.ค. 2566 | 04:37 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2566 | 04:38 น.

แผนเปลี่ยนประธานบอร์ดปตท. ลือสะพัด "ทศพร ศิริสัมพันธ์ " ยอมลาออก ตั้ง "ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ" ปลัดพลังงานแทน ฝั่ง “สคร.” ชี้แนวทางปฏิบัติต้องให้รัฐบาล “เศรษฐา” คัดเลือก

กรณีที่มีกระแสข่าว การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ถกเถียงกันถึงแผนการเปลี่ยนตัวประธานบอร์ดของผู้มีอำนาจทางการเมือง กระทั่งนายทศพร ศิริสัมพันธ์ ทนแรงกดดันไม่ไหว ยอมลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ดปตท.

และที่ประชุมบอร์ดปตท.ได้หารือกันว่าหลังจากนายทศพรลาออกแล้ว จะมีการแต่งตั้งนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ขึ้นมาเป็นประธานบอร์ดปตท.คนใหม่นั้น

ล่าสุด คณะกรรมการ ปตท.ได้มีการประชุมและมีหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2 ฉบับ คือ การแต่งตั้งกรรมการเฉพาะเรื่อง ดังนี้

คณะกรรมการสรรหา (แต่ไม่ได้ระบุว่าทำหน้าที่สรรหาด้านใด) ได้แก่

  • นายผยง ศรีวณิช จากกรรมการอิสระ เป็นประธานกรรมการ  
  • นายลวรณ แสงสนิท เป็นกรรมการ
  • นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร จากกรรมการอิสระ เป็นกรรมการ

คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความยั่งยืน

  • นายจตุพร บุรุษพัฒน์ กรรมการอิสระ เป็นประธานกรรมการ
  • รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต กรรมการอิสระ เป็นกรรมการ

ทั้งนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สอบถามรายละเอียดหลักการแต่งตั้งกรรมการ (บอร์ด) ในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการกำกับและดูแลรัฐวิสาหกิจ

โดย สคร. ชี้แจงว่า กระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจดำเนินการภายใต้การคัดเลือกของรัฐบาลใหม่ ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องรอดูแนวนโยบายของรัฐบาลใหม่ด้วย

“การแต่งตั้งคณะกรรมการของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ กรณีที่กรรมการของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจลาออก ขึ้นอยู่กับแนวนโยบายของรัฐบาลว่าจะดำเนินการคัดเลือกอย่างไร”

อย่างไรก็ตาม เดิมแนวทางปฏิบัติในการแต่งตั้งคณะกรรมการของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในอดีตที่ผ่านมา คณะกรรมการของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้นๆ จะเป็นผู้คัดเลือกบุคคลขึ้นมาก่อน และจะส่งรายชื่อมาที่คณะอนุกรรมการพิจารณาอีกครั้ง

ซึ่งคณะอนุกรรมการดังกล่าว จะมีนายกเป็นประธาน หรือในอดีตเรียกว่า “คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)” และในปัจจุบันยังไม่มีการเรียกประชุม คนร.