ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เรื่องวุ่น ๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ ภาค 2” โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ
รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง โดยการสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น 97.0%
ทั้งนี้ จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่า ตัวอย่าง 50.53% ระบุว่า ไม่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ รองลงมา 35.80% ระบุว่า เคยเลือก แต่ไม่ได้เลือกในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 ส่วน 12.52% ระบุว่า เคยเลือก รวมถึงในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 และ 1.15% ระบุว่า ยังไม่เคยไปเลือกตั้งเลย
ขณะที่สาเหตุที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ยืนหยัดในการเมืองไทยได้จนถึงปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่าง 39.62% ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์มีแฟนคลับ/ฐานทางการเมืองที่มั่นคง เช่น ฐานในภาคใต้ รองลงมา 30.92% ระบุว่า ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มีศักยภาพในการนำพรรคฯ
ส่วน 26.41% ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นสถาบันทางการเมืองที่มั่นคง และ 22.60% ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์ชัดเจนในการต่อสู้กับระบบเผด็จการ และการคอร์รัปชัน
อีก 20.08% ระบุว่า สส. หรือแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญทางการเมือง ,9.16% ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์มีวัฒนธรรมความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคฯ ,3.21% ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีเจ้าของ และ 3.44% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ควรทำเพื่อที่จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง พบว่า ตัวอย่าง 45.50% ระบุว่า ปฏิรูปพรรคฯ ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางการเมืองไทยในปัจจุบัน รองลงมา 35.65% ระบุว่า เลือกหัวหน้าพรรคที่มีศักยภาพในการนำพรรคฯ ,17.94% ระบุว่า คัดสรรตัวแทนผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคฯ ที่มีคุณภาพทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น
,17.79% ระบุว่า แสดงบทบาทการเป็นฝ่ายค้านที่มีศักยภาพ ,15.34% ระบุว่า เชิญอดีตแกนนำพรรคฯ ที่ออกจากพรรคไปแล้วให้กลับเข้ามาช่วยฟื้นฟูพรรคฯ ,13.51% ระบุว่า สร้างความเป็นเอกภาพภายในพรรคฯ ,8.09% ระบุว่า เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อสร้างผลงาน ,7.94% ระบุว่า เลือกเลขาธิการพรรคฯ ที่มีความสามารถในการบริหารพรรคฯ และ 1.45% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไป พบว่า อันดับ 1 ประมาณ 28.32% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ,27.10% ระบุว่าเป็น น.ส.วทันยา บุนนาค (มาดามเดียร์) ,20.46% ระบุว่าเป็น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน
,9.39% ระบุว่าเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ,7.94% ระบุว่าเป็น นายนราพัฒน์ แก้วทอง ,6.03% ระบุว่าเป็น นายชวน หลีกภัย และ0.76% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อพรรคประชาธิปัตย์หลังการประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคฯ พบว่า 36.11% ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์จะมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น ,24.58% ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์จะอยู่กันต่อไปแบบบรรยากาศมาคุ (อึดอัด อึมครึม) ,18.39% ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์จะแตกแยก โดยมีบางส่วนย้ายออกจากพรรคฯ
,15.27% ระบุว่า ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่สามารถเลือกหัวหน้าพรรคฯ/เลขาธิการพรรคฯ ได้ และ 5.65% ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ ไม่สนใจ