ป.ป.ช.ตีตก รัฐมนตรียุคคสช. ฮั้วประมูล โครงการป้องกันกัดเซาะชายหาดสมิหลา

04 ธ.ค. 2566 | 04:42 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2566 | 05:10 น.

ป.ป.ช.ชี้มูล อดีตอธิบดีกรมเจ้าท่า กับพวก ฮั้วประมูลโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหาดสมิหลา ฟันอาญา 157 - วินัย ตีตก ข้อกล่าวหา "ออมสิน ชีวะพฤกษ์" รัฐมนตรีช่วยคมนาคมยุครัฐบาลคสช.

วันที่ 4 ธันวาคม 2566 นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะรองโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวน

กรณีกล่าวหา นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กับพวกรวม 6 ราย ว่าพิจารณาให้ผู้เสนอราคาบางรายไม่ผ่านคุณสมบัติในการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดสมิหลา ถนนชลาทัศน์ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา

โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ทั้ง ๆ ที่มีผลงานลักษณะเดียวกันกับผู้ชนะการประกวดราคาและเสนอราคาต่ำกว่าข้อเท็จจริง 

นายศรชัยกล่าวว่า จากการไต่สวนปรากฏว่า กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการจ้างเหมาก่อสร้างโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณหาดสมิหลา ที่จังหวัดสงขลา โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ตามประกาศ ลงวันที่ 25 มกราคม 2559 เอกสารเลขที่ 82/2559 ราคากลาง 269,900,000 บาท มีผู้ยื่นข้อเสนอและใบเสนอราคาจำนวน 4 ราย

คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ประกอบด้วย นายดนัย คำนึงเนตร นางจุฑามาศ อัชกุล นายจิรัฏฐ์ ลักษณะละม้าย และนายนคฤกษ์ คำม่วง ได้รายงานผลการประกวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดสมิหลาฯ ต่อนายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า ว่ากิจการร่วมค้านราบางกอก ซึ่งเสนอราคา 254,330,000 บาท ไม่ผ่านคุณสมบัติในการเข้าประกวดราคา

เนื่องจากไม่ได้ยื่นผลงานประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาครั้งนี้ และเห็นควรจ้างบริษัท เค.พี.ซี. เอนเตอร์ไพร้ส์ จำกัด ซึ่งเสนอราคา 269,600,000 บาท เนื่องจากมีคุณสมบัติถูกต้องและเสนอราคาต่ำสุด ทั้งที่ผลงานของผู้เสนอราคาทั้งสองรายดังกล่าวใช้เทคนิคการก่อสร้างเดียวกัน 

นายศรชัยกล่าวว่า ประกอบกับในการพิจารณาดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ได้เห็นราคาของผู้ยื่นข้อเสนอก่อนหรือพร้อมกับการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ อันเป็นการมิได้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

รวมทั้งประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ข้อ 37 (5) และ (6) ต่อมากรมเจ้าท่าได้เสนอเรื่องขออนุมัติจ้างเหมาก่อสร้างโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดสมิหลาฯ โดยเห็นควรจ้างบริษัท เค.พี.ซี. เอนเตอร์ไพร้ส์ จำกัด 

นายศรชัยกล่าวว่า จนกระทั่งนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ลงนามเห็นชอบและอนุมัติ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2559 และกรมเจ้าท่า ได้มีหนังสือลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 แจ้งผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ไปยังกิจการร่วมค้า นราบางกอก

โดยกำหนดให้ยื่นอุทธรณ์ภายใน 15 วัน แต่กลับปรากฏว่า กรมเจ้าท่า โดยนายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า ได้เร่งรัดทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดสมิหลาฯ กับบริษัท เค.พี.ซี. เอนเตอร์ไพร้ส์ จำกัด เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ในวงเงินค่าจ้าง 269,600,000 บาท โดยที่มิได้รอระยะเวลาที่ให้กิจการร่วมค้า นราบางกอก อุทธรณ์ผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์

นายศรชัย กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติ ดังนี้

  • การกระทำของนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป 
  • การกระทำของ นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ นายดนัย คำนึงเนตร นางจุฑามาศ อัชกุล นายจิรัฏฐ์ ลักษณะละม้าย และนายนคฤกษ์ คำม่วง มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง 

นายศรชัยกล่าวว่า ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัยตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป

ทั้งนี้ ให้แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539