นับจาก นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับคืนแผ่นดินเกิดเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 เพื่อรับโทษทัณฑ์ในคดีที่ก่อขึ้น โดยได้ถูกนำตัวเข้าไปควบคุมยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ก่อนที่กลางดึกคืนวันที่ 23 ส.ค. 2566 กรมราชทัณฑ์ ได้ส่งตัว นายทักษิณ ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ด้วยเหตุมีอาการแน่นหน้าอก
นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน นายทักษิณ ก็ยังคงนอนรักษาตัวอยู่ที่ ชั้น 14 รพ.ตำรวจ เรื่อยมา ด้วยอาการโรคต่าง ๆ
ทั้งนี้ นายทักษิณ ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษเหลือ 1 ปี ส่วนการจะได้รับการลดโทษตามห้วงเวลาสำคัญได้ ต้องรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 หรือ 6 เดือน โดยยึดเกณฑ์เวลาที่มากกว่า ซึ่งกรณี นายทักษิณ จะครบเกณฑ์รับโทษ 6 เดือน ในวันที่ 22 ก.พ. 2567 จึงจะได้รับสิทธิการพักโทษ เพราะอยู่ในเงื่อนไขมีอายุเกิน 70 ปี แม้จะรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ ก็ถือว่าเข้าข่ายให้นับโทษอยู่ในเรือนจำ
ดังนั้น หาก นายทักษิณ รักษาตัวอยู่รพ.ตำรวจครบ 6 เดือน ในเดือน ก.พ. 2567 ก็จะเข้าเกณฑ์ได้รับการ “พักโทษ” สามารถกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ โดยไม่จำเป็นต้องใส่กำไลอีเอ็ม แต่อาจจำกัดพื้นที่ให้อยู่ที่บ้านในประเทศไทย ไม่สามารถเดินทางไปนอกราชอาณาจักรได้
“ทักษิณ”เตรียมนอนบ้าน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีโอกาสสูงที่ นายทักษิณ จะได้รับการ “พักโทษ” กลับไปพักรักษาตัวที่บ้านก่อนกำหนด โดยไม่ต้องรอให้ถึงเดือน ก.พ. 2567 จากระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์ ที่ประกาศออกมา เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2566
ระเบียบที่ว่าคือ “ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566” ลงนามประกาศโดย นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะรักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์
โดยมีสาระสำคัญ คือ เป็นการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ ตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังแต่ละประเภท และการอื่นตามมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560
หลังมีประกาศดังกล่าว ทางกรมราชทัณฑ์ก็ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยัง ผบ.เรือนจำ ผอ.ทัณฑสถาน ผอ.สถานกักขัง และ ผอ.สถานกักกัน ทั่วประเทศเพื่อให้ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว
ว่ากันว่า...ระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์ที่ออกมาในช่วงเวลานี้ จะทำให้ นายทักษิณ ได้อานิสงส์กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้ โดยไม่ต้องกลับเข้าเรือนจำอีกแล้ว
สำหรับช่วงเวลาที่ นายทักษิณ จะได้ออกจาก รพ.ตำรวจ เพื่อกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านนั้น มีรายงานว่า อาจจะเป็นวันจันทร์ที่ 25 ธ.ค. 2566 นี้
ปัดปูทางเอื้อ“ทักษิณ”
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงระเบียบกรมราชทัณฑ์ดังกล่าว ว่า เรื่องดังกล่าวเกิดจาก พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ 2560 แต่กฎหมายรอง หรือ อนุบัญญัติต่างๆ ต้องมีออกมาให้ครบ เหมือนบางกระทรวงที่มีกฎหมายแต่ไม่สามารถออกอนุบัญญัติได้ ทำให้ใช้กฎหมายได้ไม่ครบถ้วน ส่วนรายละเอียดให้สื่อไปตรวจสอบอีกครั้ง
เมื่อถามว่า นายทักษิณ จะได้รับประโยชน์จากระเบียบดังกล่าวหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องไปดูรายละเอียด เพราะไม่ได้ติดตาม
ส่วนผู้ที่จะพิจารณาได้ว่าระเบียบดังกล่าวจะครอบคลุมไปถึงนายทักษิณ ได้เป็นใคร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของกระทรวง และเจ้าหน้าที่พิจารณา เพราะรายละเอียดตนไม่ได้ดู
เมื่อถามย้ำว่ามีการวิจารณ์ว่าเรื่องดังกล่าวมีการปูทางไว้ตั้งแต่สมัยที่นายสมศักดิ์ เป็นรมว.ยุติธรรม นายสมศักดิ์ ตอบว่า “ไม่ใช่ กฎหมายมีมาตั้งแต่ปี 2560 และต้องมีอนุบัญญัติในทุกมาตรา เพื่อประโยชน์การบริหาร
ราชทัณฑ์แจงยิบระเบียบใหม่
นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และรักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงถึงระเบียบว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 โดยย้อนไปว่า ใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติชัดเจนในมาตรา 33 ให้มีการออกกฎกระทรวง และเมื่อกฎกระทรวงมีการประกาศใช้ มาตรา 34 จึงกำหนดให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการออกระเบียบมารองรับ ดังนั้น ในส่วนของกฎกระทรวง พบว่าได้มีการออกมาใช้ตั้งแต่ปี 2563 โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ
1.เป็นการจำแนก แยก ควบคุม ผู้ต้องขัง หมายถึง เมื่อมีการจำแนกผู้ต้องขังแล้ว พบว่าผู้ต้องขังรายใดสมควรที่จะอยู่ข้างนอกเรือนจำ ซึ่งอาจมีประโยชน์มากกว่าการอยู่ในเรือนจำ เราก็จำเป็นต้องนำตัวไปคุมขังภายนอกเรือนจำแทน
2.เป็นผู้ต้องขังที่ต้องพัฒนาพฤตินิสัย เนื่องจากการพัฒนาพฤตินิสัยจะรวมถึงอาชีพ การแก้ไขบำบัด ซึ่งวัตถุประสงค์นั้นมีความสำคัญ ซึ่งกรมราชทัณฑ์ก็มีข้อจำกัดด้วยเรื่องทรัพยากร หรือขั้นตอนต่างๆ แต่ถ้ามีการนำตัวผู้ต้องขังไปพัฒนาพฤตินิสัยที่ข้างนอก อาจจะทำให้ผู้ต้องขังได้รับประโยชน์สูงสุด
3.นักโทษที่เจ็บป่วย การอยู่ในเรือนจำไม่มีประโยชน์ เพราะสภาพแวดล้อมในเรือนจำ หรือ การดูแลต่างๆ จึงเล็งเห็นว่า หากได้รับการคุมขังดูแลภายนอกเรือนจำ หรือ ได้รับการดูแลจากครอบครัว อาจมีประโยชน์แก่ตัวผู้ต้องขังที่มีอาการเจ็บป่วยมากกว่า
4.เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย เนื่องจากผู้ต้องขังแต่ละรายอยู่ในเรือนจำมาด้วยระยะเวลานานพอสมควร การปรับตัวภายในสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องยาก ราชทัณฑ์จึงต้องมีการเตรียมผู้ต้องขังให้พร้อมสำหรับกลับคืนสู่สังคม และใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ทั้งหมด 4 เหตุผลนี้จึงเป็นวัตถุประสงค์ที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎกระทรวง
ส่วนสาเหตุที่เพิ่งลงนามประกาศระเบียบดังกล่าว นายสหการณ์ ชี้แจงว่า ตนมองว่ามันช้าไปเสียด้วยซ้ำ เพราะ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ บังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 แต่ขณะนี้ระเบียบดังกล่าวที่ประกาศออกมา ถือว่าเกินกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และปัจจุบันมันมีกฎหมายที่เร่งรัดให้แต่ละหน่วยงานต้องดำเนินการออกกฎหมายที่ค้างดำเนินการ
อีกทั้ง ครม.ก็ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานกระทรวงทำการออกกฎหมายของตัวเองให้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็วที่สุด แต่ขยายเวลาไปได้อีกไม่เกิน 1 ปี จึงหมายความว่ากว่าที่กฎหมายจะออกบังคับใช้ ได้มีการพิจารณากันอย่างชัดเจนแล้ว
สำหรับกรณีที่ภาคสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการลงนามคำสั่งออกระเบียบบังคับใช้เพื่อเอื้อต่อ นายทักษิณ ที่ขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำหรือไม่นั้น นายสหการณ์ ระบุว่า การออกระเบียบดังกล่าวไม่ได้มองว่าใครได้ประโยชน์ หรือว่า การออกระเบียบไปแล้วใครที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณา ก็ต้องมองไปตามกฎกระทรวงและระเบียบที่กำหนดไว้
แต่ที่สำคัญผู้ที่ผ่านเกณฑ์จะต้องได้รับการคัดกรองตั้งแต่ขั้นตอนของเรือนจำ จนเข้าสู่ขั้นตอนของคณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขังกรณีของ นายทักษิณ อย่างไรก็จะต้องไปตรวจสอบอีกครั้ง”
นายสหการณ์ กล่าวว่า กระบวนการที่แต่ละเรือนจำทั่วประเทศ จะเริ่มพิจารณาว่า ผู้ต้องขังรายใดเข้าเกณฑ์ได้รับประโยชน์ที่จะไปคุมขังนอกสถานที่คุมขังนั้น คาดว่าจะเริ่มได้ภายในเดือน ธ.ค. ตามที่มีผลบังคับใช้ทันที
โดยหลังจากนี้กรมราชทัณฑ์จะมีการแจ้งรายละเอียดและแนวทางปฏิบัติไปยังแต่ละเรือนจำทั่วประเทศ ซึ่งในระดับเรือนจำจะมีคณะทำงานของเรือนจำนั้นๆ
“ภายในสัปดาห์หน้าคาดว่า จะเริ่มมีการแจ้งไปยังเรือนจำทั่วประเทศ เพื่อให้ปฏิบัติตามระเบียบ และตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. เป็นต้นไป แต่ละเรือนจำจะเริ่มการพิจารณาผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ และรวบรวมรายชื่อเสนอต่อกรมราชทัณฑ์ต่อไป”