วันนี้ (20 ธ.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการไต่สวนพยานคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา101(6)ประกอบมาตรา98(3)หรือไม่ จากกรณีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนั้น
มีรายงานว่าบุคคลที่ศาลเรียกไต่สวนมี 3 ปาก คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.พรรคก้าวไกล กับนายคิมห์ สิริทวีชัย ผู้ทำหน้าที่ประธานในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวีเมื่อวันที่ 26 เม.ย.66 และยังเป็นผู้เซ็นรับรองในรายงานบันทึกการประชุม และ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. พยานฝั่งผู้ร้อง
ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญ ใช้เวลาในการไต่สวนประมาณ 2 ชั่วโมง โดยนายพิธา ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่าบรรยากาศระหว่างการไต่สวน เป็นไปตามที่คาดหวัง รู้สึกพอใจกับกระบวนการ และได้ไต่สวนตามข้อเท็จจริงที่ตั้งใจไว้ทุกประการรู้สึกพอใจ
ส่วนรายละเอียดในการชี้แจงคงให้สัมภาษณ์ไม่ได้เพราะเป็นการละเมิดศาล แต่ในส่วนข้อเท็จจริงที่สื่อมวลชนได้เคยนำเสนอเกี่ยวกับการยุติจากประกอบกิจการไอทีวี หรือสถานะผู้จัดการมรดกของตนเองก็ได้รับการไต่สวนจากศาลและฝ่ายกฎหมายของผู้ร้องและผู้ถูกร้องครบถ้วนแต่ไม่สามารถเปิดเผยได้
"สิ่งที่ให้สัมภาษณ์ได้คือพอใจและเป็นไปตามที่หวังไว้ทุกประการ รายละเอียดขอให้รอการสรุปอย่างเป็นทางการจากทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากนี้ไม่มีการนัดไต่สวน จะมีการนัดตัดสินหรือการอ่านคำวินิจฉัยเลย ผมยังมั่นใจเหมือนเดิม มั่นใจว่าได้ทำตามหน้าที่ในฐานะผู้ถูกฟ้องอย่างเต็มที่แล้ว และมั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรมและความยุติธรรม หากคำพิพากษาเป็นคุณ ก็จะกลับไปทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทันที "
เมื่อถามว่า ก่อนลงสมัครสส.ได้ถือหุ้นไอทีวีไว้หรือไม่ นายพิธา ระบุว่า เป็นการถือแทนในฐานะผู้จัดการมรดก แต่ในส่วนรายละเอียดอยู่ในชั้นศาลตนไม่อยากที่จะละเมิดศาล แต่ก็ยืนยันว่าเป็นการถือ แทนน้องชาย ซึ่งตนได้สละเจตนาตั้งแต่ก่อนอยู่พรรคอนาคตใหม่ และมีการปันทรัพย์มรดกกัน ตนจะตอบมากกว่านี้ไม่ได้ แต่ข้อนี้ก็เป็นหนึ่งในข้อที่มีการพูดคุยกัน ถ้าตอบไปจะเป็นการชี้นำสังคมและเป็นการละเมิดศาล
เมื่อถามต่อว่า ไอทีวี ได้ยุติการออกอากาศแล้วสามารถกลับมาทำสื่อได้อีกครั้งหรือไม่ นายพิธา ระบุว่า เรื่องนี้ขอให้ถามนายคิมห์ น่าจะเหมาะสมมากกว่า ส่วนตัวจะไปพูดแทนไม่ได้ แต่ถ้าได้ดูตามเอกสารที่ออกมาก็จะเห็นว่าไอทีวีได้ยุติการประกอบกิจการไปตั้งแต่ปี 50 ทรัพยากรอีกครึ่งหนึ่งก็ไปอยู่ไทยพีบีเอส แล้วตอนนี้ใบอนุญาตก็ไม่มี
เพราะฉะนั้นการจะกลับมาประกอบกิจการเดิมก็ต้องมีทั้งคดีความที่เกี่ยวโยงกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ที่ศาลปกครองสูงสุด รวมถึงคลื่นความถี่ที่ไม่มีแล้ว ใบอนุญาตประกอบกิจการ ที่สอบถามไปยัง กสทช. ก็ไม่มี
สำหรับคำพิพากษาผู้จัดการมรดกต้องมาจากศาลแพ่งส่วนที่เหลือเป็นการปันทรัพย์ ที่มีการส่งข้อมูลทางดิจิทัลที่สามารถเห็นได้ ว่าฝ่ายนั้นถูกสร้างขึ้นมาเมื่อไหร่ และเรื่องของแสตมป์อากรก็ได้ชี้แจงไปแล้วครบทุกอย่าง
ทั้งนี้ได้รับการรายงานว่าศาลรัฐธรรมนูญจะนัดคู่กรณีฟังคำวินิจฉัยคดีนี้ในวันพุธ ที่ 24 ม.ค. 2567 เวลา 14.00น.