วันที่ 4 ม.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาฯ วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระแรก เป็นวันที่ 2 สส.พรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล สลับกันอภิปราย โดยทพญ.ศรีญาดา ปาลิมาพันธ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ของรัฐบาล ที่เคยศึกษามาตั้งแต่สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางพลังงาน เชื่อมเส้นทางการค้าน้ำมันโลก เปิดทางให้ประเทศไทยเป็นประเทศการลงทุน ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย ประเมินว่าจะช่วยให้จีดีพีประเทศเพิ่มขึ้น 1.5%ของทุกปี อยากให้มีการสนับสนุนโครงการนี้อย่างต่อเนื่องอยู่ในแผนงบประมาณรายจ่ายปี 2568 เพื่อรองรับและสร้างโอกาสให้กับโครงการแลนด์บริจด์ ที่นอกจากจะช่วยให้จีดีพีเพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยในเรื่องการจ้างงานในพื้นที่ด้วย
ต่อจากนั้นในเวลา 12.20 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง ลุกชี้แจงต่อทันที ว่า จากโครงการดังกล่าวทำให้ไทยอยู่ในหมุดหมายการผลิตของต่างประเทศทั่วโลก โดยหลายประเทศต้องการเข้ามาตั้งโรงงานในไทย แต่โรงงานผลิตหลายสินค้าไม่สามารถตั้งได้เพราะต้องการสร้างให้ใหญ่กว่านั้นเนื่องจากต้องส่งสินค้าไปทั่วโลก
แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาตอนนี้ คือ ช่องแคบมะละกาทีแออัดและเกิดอุบัติบ่อยครั้ง ทำให้การขนส่งสินค้าต้องเข้าคิว และใช้เวลาจำนวนมาก อย่างไรก็ดีในช่วง 10-15 ปี เชื่อว่าจะมีปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น และมีมูลค่าสินค้าใช้เส้นทางเดินเรือเพิ่ม โดยช่องแคบดังกล่าวบริหารไม่เกิดประโยชน์สุงสุด
"การทำแลนบริดจ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ปริมาณน้ำมันขนส่งทั่วโลก 60% ผ่านช่องแคบมะละกา หากมีปัญหเรื่องขนถ่ายสินค้า รัฐบาลจึงตระหนักทำเรื่องแลนด์บริดจ์ และจุดยืนของเราคือเป็นกลาง ความขัดแย้งระหว่างจีน และ สหรัฐอเมริกาที่มีความรุนแรง แต่เขาต้องค้าขาย เมื่อประเทศไทยเป็นกลางเสนอตัวทำแลนบริดจ์ เชื่อมโลกทั้งโลก และจีน สหรัฐอเมริกาสามารถใช้เป็นศูนย์กลางขนถ่ายสินค้าได้ดี"
นายกฯและรมว.คลัง ชี้แจงด้วยว่า การทำแลนด์บริดจ์เป็นเรื่องจำเป็น แต่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เพิกเฉยเสียงประชาชนในพื้นที่ รัฐบาลดำเนินการสำรวจความคิดเห็นรับฟังความเห็น พรรคค้าน ภาคประชาคม ประชาชนในพื้นที่ นักธุรกิจทุกคน ให้แน่ใจว่าโครงการดังกล่าวเป็นเมกะโปรเจกต์ที่สำคัญของโลก
นอกจากนั้นโครงการแลนด์บริดจ์ทำให้หลายประเทศ ซาอุดิอาระเบีย ที่มีมั่นคงด้านพลังงาน อยากเข้ามาลงทุน สร้างโรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าจะทำให้ไทยมีความมั่นคงทางพลังงาน และไทยมีความพร้อมยืนในโลกที่ขัดแย้ง พึ่งตนเองได้ ให้ชีวิตประชาชนยกระดับ