ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัยและสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า นายศักดิ์สยามกระทำผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 รัฐธรรมนูญมาตรา 160 (8) ได้กำหนดว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง เพราะกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 มาแล้วไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง
สำหรับไทม์ไลน์ตั้งแต่ day one ที่พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนกระทั่งวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายศักดิ์สยามหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี จนถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันนี้ ได้ประชุมปรึกษาคดีเป็นระยะเวลา 10 เดือน 20 วัน
- วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 พรรคฝ่ายค้านเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายนายศักดิ์สยาม
- วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ที่ประชุม สส.ลงมติไว้วางใจ 262 เสียง ไม่ไว้วางใจ 205 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ถือว่า มีมติไม่ไว้วางใจคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 477 คน
- วันที่ 25 มกราคม 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน ยื่นรายชื่อ สส.จำนวน 54 รายชื่อ ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ “ครั้งแรก”
- วันที่ 31 มกราคม 2566 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสื่อ ด่วนที่สุด ที่ สผ 0001/1096 ถึง นพ.ชลน่านกะบคณะ แจ้งว่า
“ซึ่งไม่ใช่เหตุที่รัฐธรรมนูญตามมาตราดังกล่าวได้กำหนดไว้ อันจะทำให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรสามารถเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวท่าน กับคณะ สามารถเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้โดยตรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสาม”
- วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 นพ.ชลน่านพร้อมคณะยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยามเป็น “ครั้งที่สอง”
- วันที่ 3 มีนาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์มีคำสั่ง “รับคำร้อง” ไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้นายศักดิ์สยามชี้แจง “แก้ข้อกล่าวหา” ภายใน 15 วัน และมีมติเอกฉันท์สั่งให้ “หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี” จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
- วันที่ 31 มีนาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เนื่องจากการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เสร็จสิ้นแล้ว กรณีนายปกรณ์วุฒิ และสส. 47 คน ยื่นคำร้องกรณีนายศักดิ์สยามใช้อำนาจในตำแหน่งจัดทำหรือเห็นชอบโครงการหน่วยงานรัฐ โดยมีเจตนาพิเศษส่งผลทำให้หจก.บุรีเจริญฯ และบริษัทที่บริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทยรับงานเป็นคู่สัญญากับกระทรวงคมนาคม เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสอง
- วันที่ 11 เมษายน 2566 นายศักดิ์สยามยื่นคำร้องลงวันที่ 10 เมษายน 2566 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี
- วันที่ 18 เมษายน 2566 ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องเนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณียังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอันเป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เดิม
- วันที่ 14 มิถุนายน 2566 ศาลรัฐธรรมนูญให้บุคคลที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม
- วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญให้บุคคลที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม
- วันที่ 16 สิงหาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย
- วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญให้บุคคลที่เกี่ยวข้องจัดทำคำชี้แจงเป็นหนังสือตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด
- วันที่ 13 กันยายน 2566 ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และกำหนดนัดพิจารณาคดีต่อ
- วันที่ 20 กันยายน 2566 ศาลรัฐธรรมนูญให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำคำชี้แจงและจัดส่งพยานหลักฐานต่อศาล
- วันที่ 18 ตุลาคม 2566 เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาจึงให้รอคำชี้แจงและพยานหลักฐานจากบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเรียกไปก่อนหน้านี้
- วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง วันที่ 3 มี.ค.66 ดำเนินกระบวนพิจารณาและรวบรวมพยานหลักฐานมาแล้ว 48 ครั้ง เห็นควรไต่สวนพยานบุคคลต่อไป และกำหนดวันไต่สวนพยานบุคคล 4 ปากในวันที่ 14 ธ.ค.66
- วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 คดีอยู่ระหว่างคู่กรณีมาตรวจพยานหลักฐานและพยานบุคคลยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็น จึงกำหนดนัดพิจารณาคดีต่อวันที่ 29 พ.ย.66
- วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเตรียมการไต่สวนในวันที่ 14 ธ.ค.66
- วันที่ 6 ธันวาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเตรียมการไต่สวนวันที่ 14 ธ.ค.66
- วันที่ 14 ธันวาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนพยาน 6 ปาก คือ นางวราภรณ์ เทศเซ็น นายศักดิ์สยาม นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ น.ส.วรางสิริ ระกิติ น.ส.ฐิติมา เกลาพิมาย และนางอัญชลี ปรุดรัมย์ คดีเป็นอันเสร็จการไต่สวน และนัดฟังคำวินิจฉัยวันที่ 17 ม.ค.67
- วันที่ 20 ธันวาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดประเด็นที่พิจารณาวินิจฉัย กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติวันที่ 17 ม.ค.67 เวลา 09.30 น. และนัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 14.00 น.
- วันที่ 10 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญ คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและเพื่อให้การดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ
- วันที่ 17 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย