ดาบสองจ่อคอ "ศักดิ์สยาม" ซุกหุ้น แจ้งบัญชีทรัพย์สิน ป.ป.ช. เป็นเท็จ

17 ม.ค. 2567 | 10:55 น.
อัพเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2567 | 11:07 น.

พลิกกฎหมาย ป.ป.ช. เชือดซ้ำ "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี กรณีถือครองหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เข้าข่ายแสดงบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน เป็นเท็จหรือไม่   

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยคะแนนเป็นเสียงข้างมากวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 กรณีการถือครองหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น นั้น อาจเข้าข่ายการแสดงรายการทรัพย์สินหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ด้วยหรือไม่ 

ในการยื่นรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายศักดิ์สยาม ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อปี 2562 ระบุว่า นายศักดิ์สยาม มีทรัพย์สินร่วม 115 ล้านบาท มีเงินสดและเงินฝากประมาณ 76.3 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน ซึ่งเมื่อดูในรายละเอียดมีการตั้งข้อสังเกตว่า เงินจากการโอนหุ้นบริษัทดังกล่าวข้างต้นหลายร้อยล้านบาทซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่นายศักดิ์สยามจะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น ไม่ได้แจ้งต่อ ป.ป.ช.หรือไม่ 

เมื่อพลิกดูพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 167 ระบุว่า

ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนดตามมาตรา 28 (3) ซึ่งกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์อิสระและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรจุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าว  

ผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือ ประธานวุฒิสภา แล้วแต่กรณี ภายในเวลาที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้กำหนด หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยความข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่า มีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ  

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 114 ยังระบุเอาไว้ด้วยว่า เมื่อปรากฎว่า ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยืนบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือ ปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้ง และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่า มีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น 

ให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการหรือพนักงาน เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้นั้นทราบ และกำหนดระยะเวลาตามสมควรที่ผู้นั้นจะมาชี้แจงข้อกล่าวหา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด แล้วนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาต่อไป 

กรณีตามวรรคหนึ่ง หากคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่า ผู้ใดจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่า มีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ 

กรณีเป็นบุคคลตามมาตรา 102 (1) (2) (3) และ(9) ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อวินิจฉัย ทั้งนี้ ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีของบุคคลตามมาตรา 102 (9) ด้วย