หลังจากที่ศาลอาญามีคำพิพากษาคดีกลุ่มกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บุกยึดสนามบินดอนเมือง คดีหมายเลขดำ อ.973 /2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กับพวกรวม 32 ร่วมกันเป็นจำเลยในความผิด ฐานเป็นกบฏ ก่อการร้ายฯ กรณีระหว่างวันที่ 24 พ.ย.- 3 ธ.ค.2551 โดยศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยแต่สั่งปรับจำเลย 13 คน ๆ ละ 20,000 บาทในข้อหาบุกรุก
จากเอกสารคำวินิจฉัยฉบับเต็มของศาลอาญารวม 94 แผ่น ได้อธิบายรายละเอียดของคำวินิจฉัยของศาลอาญา ระบุความผิดฐานบุกรุกของกลุ่มพันธมิตรฯ ว่า โจทก์มีพยานปาก นายอดิศักดิ์ สกุลพาณิชย์ ซึ่งเป็นรองผอ.รักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานดอนเมือง เบิกความตอบพนักงานอัยการโจทก์ซักถามว่า
ช่วงเกิดเหตุพยานปฏิบัติงานในตำแหน่งหัวหน้างานศูนย์รักษาความปลอดภัยฯ มีหน้าที่ในการควบคุมการปฏิบัติงานของพนักงานดูแลกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง มีกล้องวงจรปิดติดตั้งครอบคลุมทั้งพื้นที่ Land Side และ Air Side ดูแลกล้องวงจรปิดของท่าอากาศยานในช่วงเกิดเหตุตลอด 24 ชม.
ในช่วงเวลาเกิดเหตุ พยานประจำอยู่ในห้องทำงานชั้น 2 อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 ได้รับแจ้งว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯเคลื่อนขบวนเข้ามาภายในบริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง พยานจึงรออยู่บริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานชั้น 2
กระทั่ง กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนเข้ามาบริเวณถนนหน้าอาคารโดยใช้รถบรรทุกสิบล้อจำนวน 2 คัน เป็นเวทีเคลื่อนที่ มีเครื่องขยายเสียงติดตั้งอยู่บนรถ ส่วนผู้ชุมนุมอื่นใช้รถยนต์ส่วนตัวบ้าง บางส่วนเดินเท้า จากนั้นผู้ชุมนุมได้ตั้งเวทีชั่วคราวบริเวณด้านหน้าอาคารสำนักงานและได้ปักหลักชุมนุมบริเวณดังกล่าว จากนั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้เข้ามาพูดคุยกับพยานและแจ้งว่า จะขออนุญาตขึ้นไปดูห้องประชุม ครม.ชั่วคราว ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอาคารสำนักงานชั้น 4
กระทั่งเวลา 1 ทุ่มของวันเดียวกันแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมได้ตั้งเวทีบนรถบรรทุกสิบล้อเป็นเวทีชั่วคราวจอดอยู่บริเวณหน้าอาคาร มีแกนนำปราศรัยให้ผู้ชุมนุมฟัง ต่อมากลุ่มผู้ชุนนุมได้ย้ายไปชุมนุมปักหลักบริเวณด้านหน้าอาคารผู้โดยสารภายในประเทศซึ่งพยานก็ไม่ได้เดินทางไปสังเกตการณ์บริเวณดังกล่าว
แต่ยังคงติดตามเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดในห้องบริเวณชั้น 2 ของอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศอาคาร 1 ทำให้พยานสามารถดูเหตุการณ์บริเวณการชุมนุมตรงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศได้ โดยดูภาพจากกล้องวงจรปิดดังกล่าวพร้อมกับนายประเทือง คณะสุวรรณ์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน
ขณะที่นายวันชัย เกิดเรือง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำท่าอากาศยานดอนเมือง เบิกความว่า ขณะที่เข้าเวรรักษาความปลอดภัยปฏิบัติหน้าที่เป็นสายตรวจได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ตรวจสอบพื้นที่บริเวณ Air Side ภายในอาคารผู้โดยสารในประเทศซึ่งขณะนั้นพยานอยู่บริเวณชั้น 1 ของอาคาร เห็นผู้ชุมนุมบางส่วนนอนพักผ่อนโดยขณะนั้นเป็นเวลากลางคืน
พยานเห็นนายสมศักดิ์ โกศัยสุข (จำเลยที่ 4) เดินมากับการ์ดผู้ชุมนุมบริเวณชานชาลา บริเวณด้านหน้าอาคาร ซึ่งจำเลยที่ 4 และการ์ดพันธมิตรฯ เดินพูดคุยทักทายกลุ่มผู้ชุมนุม
นอกจากนี้ในวันที่ 30 พ.ย.2551 ขณะที่พยานเข้าเวรสายตรวจนั้น เห็นกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ และเห็นจำเลยที่ 4 เดินมาทักทายพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม และวันที่ 1 ธ.ค. 2551 ซึ่งเป็นเวลาเข้าเวรของพยาน
ระหว่างนั้นพยานเห็นจำเลยที่ 10 ซึ่งบอกพยานว่า ให้ช่วยระวังความปลอดภัยในพื้นที่ Air Side ภายในอาคารผู้โดยสารในประเทศให้ด้วยซึ่งพยานได้แจ้งนายสาวิทย์ แก้วหวาน (จำเลยที่ 10) ว่า พื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่มีบุคคลใดสามารถผ่านเข้ามาได้เนื่องจากอยู่ในพื้นที่หวงห้ามและติดกับพื้นที่ของกองทัพอากาศซึ่งขณะที่พยานเห็นจำเลยที่ 10 นั้นเป็นเวลา 2 ทุ่มกว่า วันที่ 1 ธ.ค. 2551 นอกจากนี้พยานได้รับแจ้งจากพนักงานรักษาความปลอดภัยว่า ยังมีแกนนำคนอื่นมาชุมนุมบริเวณท่าอากาศยานดอนเมืองด้วย
ทั้งนี้ ช่วงเย็นของวันที่ 24 พ.ย.51 กลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรได้เคลื่อนขบวนมาที่ด้านหน้าอาคารสำนักงานชั้น 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง พยานเห็นแกนนำผู้ชุมนุมซึ่งนำกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมา โดยแกนนำที่พยานจำได้ว่า เดินทางมา คือ จำเลยที่ 4 และ นายศิริชัย ไม้งาม (จำเลยที่ 7) และมีโจทก์ คือ ดาบตำรวจเสกสรรค์ ภิระบรรณ์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน เบิกความว่า วันดังกล่าว กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนมายังท่าอากาศยานดอนเมืองซึ่งมีแกนนำปราศรัยอยู่ด้วย
โดยพยานจำได้ว่า เห็น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง (จำเลยที่ 1) ซึ่งจำเสียงจำเลยที่ 1 ได้ โจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอก ณรงค์ศักดิ์ เทพจันทร์ตา ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมฝูงชน เบิกความว่า ในวันดังกล่าวนั้น พยานเห็นจำเลยที่ 1 อยู่ห่างประมาณ 15-20 เมตร โดยพยานจำจำเลยที่ 1 ได้ดี เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง
เห็นว่า แม้ว่าพยานโจทก์หลายปากจะเบิกความสอดคล้องเป็นไปในทำนองเดียวกันว่า การชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรนั้น ปักหลักชุมนุมกันในส่วนที่เป็นพื้นที่นอกเขตการบิน หรือ ที่เรียกว่า Air Side ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะบุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปได้ก็ตาม แต่ลักษณะของการชุมนุมที่มีผู้ร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากร่วมเดินทางเข้าไปในบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานซึ่งสถานที่ดังกล่าวตามหลักสากลถือเป็นสถานที่ควบคุมที่ต้องมีความปลอดภัยสูงในการบริหารจัดการ
แม้พยานโจทก์จะเบิกความเจือสมกับการนำสืบของจำเลยว่า กลุ่มผู้ชุมนุมเพียงปักหลักชุมนุมกันในส่วนที่เป็นพื้นที่นอกเขตการบิน หรือ ที่เรียกว่า Land Side เท่านั้น โดยมิได้เข้าไปปักหลักชุมนุมในเขตการบินหรือที่เรียกว่า Air Side ซึ่งเป็นพื้นที่หวงห้ามก็ตาม
แต่ภายใต้ข้อจำกัดของสถานที่อันเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานดังกล่าวนั้น การเข้าไปในพื้นที่ของท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมากเช่นนี้ย่อมเล็งเห็นได้ว่า
ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและความเสียหายแก่ผู้เสียหายในการบริหารจัดการสนามบินเนื่องจากในแต่ละวันมีประชาชนมาติดต่อและใช้บริการเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้เกิดความไม่สะดวกในการใช้บริการของประชาชน
การกระทำของกลุ่มจำเลยถือได้ว่า เป็นการเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุขแล้ว
สำหรับบริษัทเอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด (จำเลยที่ 31) ทำการถ่ายทอดสด แพร่ภาพและเสียงออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์รายงานความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมและกลุ่มจำเลยให้มาร่วมชุมนุมที่สนามบินย่อมถือว่า มีส่วนร่วมกระทำการกับจำเลยอื่นด้วย พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีจำเลยที่ 1 -5 และ ที่ 7 ถึงที่ 13 เป็นแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมในที่เกิดเหตุ ดังนั้น จำเลยที่จำเลยที่ 1 -5 และ ที่ 7 ถึงที่ 13 มีความผิดฐานร่วมกันบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ประกอบมาตรา 83
ส่วนที่จำเลยอื่นที่ขึ้นบนเวทีปราศรัยแต่ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมนำผู้ชุมนุมในสนามบิน ลำพังการปราศรัยบนเวทีโดยไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า มีส่วนร่วมอย่างหนึ่งอย่างใดจึงไม่มีความผิดแต่อย่างใด
และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ช่วงเวลาดังกล่าว นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในเขตท้องที่ดอนเมือง และในเขตท้องที่ลาดกระบัง กทม. และอ.บางพลี อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ครอบคลุมพื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 ประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และมีคำสั่งนายกฯ โดยสาระสำคัญ คือ ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ โดยให้ประชาชนที่ชุมนุมในพื้นที่ชุมนุมบริเวณดังกล่าวออกจากพื้นที่โดยทันที
อย่างไรก็ดี จำเลยยังคงฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวที่ออกโดยนายกฯ จำเลยที่ 1-5 , 7 ,13, 31 จึงมีความผิดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ด้วย
ศาลได้วินิจฉัยต่อว่า จำเลยทั้ง 31 คนร่วมกระทำผิดตามฟ้องข้อ 1.7, 1.9 และ 1.10 หรือไม่ แม้โจทก์มีพยานปากนายคมกริช สิทธิโพธิ์ เบิกความว่า ถูกการ์ดผู้ชุนุมชกต่อย ใช้ไม้ตี เพราะเหตุที่พยานไปช่วยคนที่ถูกทำร้าย แต่พยานก็จำไม่ได้ว่า ผู้ที่ทำร้ายพยานนั้นเป็นผู้ใด เช่นเดียวกับพยานปากจ่าสิบตำรวจวิเชียร ช่วยพัทลุง ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่เบิกความว่า
ในช่วงการชุมนุมเมื่อพยานเห็นว่า กลุ่มผู้ชุมนุมน่าจะก่อเหตุความวุ่นวาย พยานจึงได้บันทึกวิดีโอเหตุการณ์ไว้ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจแล้วชายชุดดำในกลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินเข้าจับแขนพยานแล้ว สั่งให้ลบข้อมูลภาพที่ถ่ายอยู่ในกล้องทั้งหมด
จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ชุลมุน โดยพยานเห็นพ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ (จำเลยที่ 11) เข้ามาพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งขณะเกิดเหตุพยานได้รับบาดเจ็บบริเวณแขนขวาเป็นแผลถลอก เนื่องจากถูกชายชุดดำของกลุ่มผู้ชุมนุมกระชาก
แต่พยานปากดังกล่าว ก็ไม่อาจเบิกความยืนยันชี้ชัดได้ว่า กลุ่มผู้ชุนนุมที่ฉุดกระชากพยานทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณแขนขวาเป็นแผลถลอกดังกล่าวนั้น เป็นผู้ใดในกลุ่มจำเลยทั้ง 31 คน
เช่นเดียวกับพยานปาก นาวาอากาศโท มัธยัณห์ ไกรสรทองศรี ที่ขณะที่เกิดเหตุเป็นผอ.ส่วนงานตระเวรระงับเหตุ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เบิกความว่า พยานเห็นการ์ดผู้ชุมุนใช้ปลายธง และด้ามธงประทุษร้ายเจ้าหน้าที่
แต่พยานก็จำใบหน้าของการ์ดและผู้ชุมนุมดังกล่าวไม่ได้ และยังเบิกความตอบทนายจำเลย ถามค้านว่า ขณะที่พยานเห็นจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นแกนนำชุมนุม พูดคุยกับบุคคลดังกล่าวไม่ได้ถือธงซึ่งด้ามทำด้วยเหล็กแต่อย่างใด
และขณะที่การ์ดผู้ชุนนุมใช้ด้ามธงประทุษร้ายใส่เจ้าหน้าที่ตรงบริเวณประตู 2 นั้น ไม่ปรากฎว่า แกนนำผู้ชุนนุมอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย และไม่ปรากฎข้อเท็จจริงใด ๆ ว่า การกระทำของบุคคลดังกล่าวเกิดจากการถูกแกนนำใช้หรือยุยงให้กระทำ
พยานจำไม่ได้ว่า ใครเป็นผู้ทำร้ายเนื่องจากไม่เคยรู้จักบุคคลดังกล่าวมาก่อน ประกอบกับ พยานปากจ่าสิบตำรวจวิทูรย์ เปลรินทร์ ทั้งนี้ การที่พยานเบิกความว่า ไม่แน่ใจว่า จำเลยที่ 7 จะอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยหรือไม่นั้น ไม่อาจรับฟังมั่งคงปราศจากสงสัยได้ ดังนี้
พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังว่า จำเลยที่ 31 คน ร่วมกระทำความผิดตามฟ้องฯ
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1-5 ,7 -13 และ 31 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ 2548 ม.18 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ม. 83 การกระทำของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชกำหนดการบริหารราชการฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับคนละ 20,000 บาท
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง จำเลยที่ 1
นายสนธิ ลิ้มทองกุล จำเลยที่ 2
นายพิภพ ธงไชย จำเลยที่ 3
นายสมศักดิ์ โกศัยสุข จำเลยที่ 4
นายสุริยะใส กตะศิลา จำเลยที่ 5
นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ จำเลยที่ 6
นายศิริชัย ไม้งาม จำเลยที่ 7
นายสำราญ รอดเพชร จำเลยที่ 8
นางมาลีรัตน์ แก้วก่า จำเลยที่ 9
นายสาวิทย์ แก้วหวาน จำเลยที่ 10
พ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ จำเลยที่ 11
นายชนะ ผาสุกสกุล จำเลยที่ 12
นายรัชต์ชยุตม์ หรือ อมรเทพ หรือ อมร ศิริโยธิภักดี หรือ อมรรัตนานนท์ จำเลยที่ 13
นายประพันธุ์ คุณมี จำเลยที่ 14
นายเทิดภูมิหรือเทิดภูมิไท ใจดี จำเลยที่ 15
นางสาวอัญชะลี หรือ ปอง ไพรีรัก จำเลยที่ 16
นายพิชิต ไชยมงคล จำเลยที่ 17
นายบรรจง นะแส จำเลยที่ 18
นายสุมิตร นวลมณี จำเลยที่ 19
นายพิเชฏฐ พัฒนโชติ จำเลยที่ 20
นายสมบูรณ์ ทองบุราณ จำเลยที่ 21
นายอธิวัฒน์ บุญชาติ จำเลยที่ 22
นายจำรูญ ณ ระนอง จำเลยที่ 23
นายแสงธรรม หรือ อาร์ท ชุนชฎาธาร จำเลยที่ 24
นายไทกร พลสุวรรณ จำเลยที่ 25
นายสุชาติ ศรีสังข์ จำเลยที่ 26
นายอำนาจ พละมี จำเลยที่ 27
พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ จำเลยที่ 28
นายกิตติชัย หรือ จอร์ส ใสสะอาด จำเลยที่ 29
นายเกรียงศักดิ์ หลิวจันทร์พัฒนา จำเลยที่ 30
บริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย ) จำกัด จำเลยที่ 31