นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) เผยแพร่บทความ ตั้ง 15 คำถาม “ทักษิณ โกงคุกหรือไม่? เงื่อนงำและการตรวจสอบ รายละเอียดดังนี้
ทักษิณ โกงคุกหรือไม่? : เงื่อนงำและการตรวจสอบ
ถาม : ปัญหาว่านายทักษิณโกงคุกหรือไม่นี่ เมื่อมีผู้ร้องเรียนแล้ว ปปช.ต้องรับตรวจสอบหรือไม่ครับ ?
ตอบ : คดีนี้เป็นที่คลางแคลงเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมมาก พื้นที่และหน่วยงานที่ต้องตรวจสอบก็ชัดเจน และ ปปช.เองคือที่พึ่งเดียวเท่านั้น เพราะฝ่ายบริหารไม่รับผิดชอบตรวจสอบอะไรเลย ผมจึงเห็นว่า ปปช.มีทั้งหน้าที่และอำนาจตรวจสอบเบื้องต้นได้แล้วครับว่า เรื่องนี้มีมูลความผิดปรากฏหรือไม่
ถาม : พื้นที่ปัญหาที่ต้องตรวจสอบว่าเขา “โกงคุก” หรือไม่ อยู่ที่ตรงไหน
ตอบ : เวลาตามหมายแจ้งโทษจากศาลถึงเรือนจำในคดีนี้ มีโทษจำ 8 ปี แล้วมีพระบรมราชโองการอภัยโทษให้เหลือ 1 ปี นับแต่ 22 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป
ใน 1 ปีนี้ 6 เดือนแรก ข่าวปรากฏว่า นายทักษิณไปอยู่โรงพยาบาลตำรวจ เพราะป่วยหนักวิกฤตถึงชีวิต และโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีศักยภาพดูแลได้ นี่คือพื้นที่ตรวจสอบแรก ว่าในช่วง 6 เดือนนี้ ป่วยหนักจริงถึงเกณฑ์ตามที่อ้างหรือไม่ หรือมีการทุจริตช่วยเหลือกันโดยมิชอบ
ถาม : แล้ว 6 เดือนหลัง ที่ได้พักโทษกลับบ้านได้นี่ ตรวจสอบด้วยหรือไม่ครับ
ตอบ : ตรงนี้เป็นอีกคดีหนึ่งว่า การพักโทษเป็นไปโดยชอบหรือไม่ ซึ่งต้องตรวจสอบกันตรงที่ว่า เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ นายทักษิณ อยู่ในสภาพช่วยตัวเองไม่ได้ใช่หรือไม่ ถ้าได้ความจริงว่าเดินปร๋อ ชนไวน์เลี้ยงกุ้งแม่น้ำฮุนเซ็น ช่วยตัวเองได้ทุกอย่าง อย่างนี้คำสั่งพักโทษก็ไม่ตรงตามเงื่อนไขที่กำหนด ต้องเพิกถอนคำสั่งพักโทษ เอาตัวกลับเข้าคุก และดำเนินคดีเอาโทษเจ้าหน้าที่ได้
ถาม : ถ้าทุจริตช่วยเหลือกันจริงๆ ใครจะผิดอาญาบ้าง
ตอบ : แต่ละคดีนั้น คนที่รู้เห็นทุกระดับต้องโดนคุกหมดในฐานทุจริตต่อหน้าที่ ส่วนนายทักษิณถ้าเป็นผู้ใช้หรือจ้างวาน ก็ผิดฐานสนับสนุนเจ้าหน้าที่ทุจริต
เอาล่ะ...คุณว่าสองคดีนี้ มันมีทางพบความผิดได้ไหม
ถาม : ป่วยหนักมา 6 เดือน พอถึงวันที่ 18 กุมภา ครบเงื่อนเวลาที่ให้พักโทษได้ ก็หายป่วยเดินปร๋อได้พอดีเลยอย่างนี้ มันน่าสงสัยนะครับว่าในวันที่ 17 กุมภาไปได้ยาวิเศษอะไรมา วันเดียวก็นั่งรถกลับบ้านได้เลย
ตอบ : เอาเถอะครับ...ถ้าวันที่ 18 โรงพยาบาลตำรวจรักษาเขาจนพ้นวิกฤตได้จริง คุณยังจะติดใจอีกหรือ
ถาม : อ้าวถ้าพ้นวิกฤตก็ต้องกลับไปนอนเรือนจำสิครับ จะกลับบ้านเลยได้ยังไง จะทำเหมือนพ้นโทษเลยไม่ได้ คุณติดคุก 1 ปีนะ ไม่ใช่ 6 เดือน
ตอบ : เขาได้พักโทษพอดีครับ อยู่ใต้อำนาจหมายขัง ครบ 6 เดือนแล้ว ราชทัณฑ์ก็มีอำนาจพักโทษให้เขาได้ โดยอ้างเหตุใหม่มาประกอบว่าเขา “ไม่อยู่ในสภาพที่ช่วยตัวเองได้” ซึ่งข้อนี้รัฐมนตรียุติธรรมก็ตอบกระทู้สดในสภาว่า มีการประเมินตามมาตรฐานแล้ว และเขาได้คะแนนช่วยตัวเองได้ต่ำกว่าเกณฑ์
ถาม : เกณฑ์ที่ว่านี้ เขาดูตรงไหนครับ
ตอบ : ดูว่าเดินได้เองไหม นั่งได้เองหรือไม่ เปลี่ยนเสื้อผ้าเองได้สะดวกไหม กินข้าวต้องให้ป้อนหรือเปล่า ขึ้นบันได 1 ชั้นได้สบายหรือไม่ กลั้นปัสสาวะ กลั้นอุจจาระได้เพียงใด ทั้งหมดนี้เขามีแบบของกรมอนามัย ใช้ประเมินให้ปรากฏระดับมากน้อยทั้งนั้น ประเมินแล้วถ้าคะแนนออกมาว่าช่วยตัวเองไม่ได้ ก็ปล่อยกลับบ้านพักโทษไปเลย จะขังไว้ทำไมให้เป็นภาระทุกข์ทรมาน
ถาม : ถ้าอาทิตย์หน้า ผมอยู่ในห้องน้ำ แล้วนายทักษิณเดินอาดๆ มาปัสสาวะข้างๆ ผม หัวเราะกี๊บก๊าบกับพรรคพวกดังไปหมด รูดซิปยัดเสื้อเข้าในกางเกงช่วยตัวเองได้คล่องแคล่ว ผมไปแจ้งตำรวจได้ไหม ว่าเขาโกงคุกเพราะยังช่วยตัวเองได้ดี
ตอบ : นี่คือปัญหาทางสังคม ต่อไปนี้เขาต้องเก็บตัวแล้วล่ะครับ การนั่งรถตัวตรงเปิดเผยออกจากโรงพยาบาลเลยอย่างนี้ ถ้านี่เป็นแผนการที่วางไว้ก็ต้องนับว่าโง่มาก เหตุเพราะมัวแต่คิดจะพิสูจน์คดีที่หนึ่งให้สังคมเห็นกับตาว่า ป่วยจริง ออกจากโรงพยาบาลแล้วโดยยังติดเฝือกอยู่เลยเห็นไหม พอมุ่งแก้คดีที่หนึ่ง จนจมอยู่ตรงนี้ ก็เลยหลงลืมไปว่าในคดีที่สองนั้น เขาต้องอยู่ในสภาพช่วยตัวเองไม่ได้ นั่งเองไม่ได้ ลุกเองไม่ได้ด้วย พอปล่อยภาพออกมาว่ายังช่วยตัวเองได้ ปัญหาคดีที่สองมันเลยโผล่ตามขึ้นมาในที่สุด
ถาม : คดีสองคดีนี้ จะพิสูจน์กันได้อย่างไรในศาล ว่าทุจริตช่วยเหลือกัน
ตอบ : ถ้า ปปช.เอาจริง ก็ต้องสอบพยานหลักฐาน ทั้งเอกสารในกระบวนการทางการแพทย์ และสอบทานปากคำแพทย์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ว่ามีความเห็นจริงไหม สุจริตหรือไม่ ฟังได้หรือเปล่า โดยขอตัวแทนแพทยสภามาเป็นกรรมการไต่สวนด้วย ความจริงก็ต้องปรากฏขึ้นมาแน่นอนในทั้งสองคดี
ถาม : เห็นราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม เขาอ้างมาตลอดว่า ข้อมูลสุขภาพเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ที่ไม่มีใครจะขอให้เปิดเผยได้เลยนะครับ
ตอบ : ผมว่าเขาตีความไม่ถูกต้อง พรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล ก็ระบุชัดเจนเป็นหลักไว้แล้วว่า ข้อมูลส่วนบุคคลไม่เป็นความลับสำหรับกระบวนการยุติธรรม ทั้งในชั้นสืบสวน สอบสวน และชั้นศาล
ถาม : แต่เมื่อเรื่องมันแคบเฉพาะลงมาเป็นข้อมูลสุขภาพนั้น มาตรา 7 ใน พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ก็ระบุชัดเจนนะครับว่า เรียกให้เปิดเผยไม่ได้ในทุกกรณี
“มาตรา 7 ข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลของส่วนราชการหรือกฎหมายอื่น เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้”
ตอบ : ผมว่ายังเรียกได้เหมือนเดิมนะครับ กล่าวคือ มาตรา 7 นี้ เขาขึ้นเป็นหลักทั่วไปหวงกัน กันไว้แต่แรกก่อนว่า การเปิดเผยข้อมูลสุขภาพนั้นทำไม่ได้ จากนั้นเขาก็ยกเว้นว่าเปิดเผยได้เมื่อมีอำนาจกฎหมายรองรับ แล้วก็ถามกันต่อไปว่าทุกกฎหมายเลยหรือ ซึ่งเขาก็บัญญัติวางข้อยกเว้นซ้อนข้อยกเว้นไว้อีกชั้นหนึ่งว่า ถ้าเป็นการขอให้เปิดเผยตามกฎหมายข้อมูลของส่วนราชการแล้ว ก็จะเปิดเผยไม่ได้ไม่ว่าจะอ้างเหตุจำเป็นใดก็ตาม
ถาม : ก็ในท้ายมาตรา 7 เขาระบุว่า เปิดเผยไม่ได้ทั้งนั้นนะครับ ไม่ว่าสิทธิตามกฎหมายข้อมูลข่าวสาร หรือกฎหมายอื่นก็ตาม กฎหมาย ปปช.ก็เป็น “กฎหมายอื่น” ด้วยไม่ใช่หรือ
ตอบ : ไม่ใช่ครับ คำว่า “กฎหมายอื่น” ในที่นี้ เขาหมายถึงกฎหมายในทำนองเดียวกันกับกฎหมายข้อมูลข่าวสาร ซึ่งไม่ใช่กฎหมาย ปปช.แน่นอน
ถาม : อะไรคือกฎหมายในทำนองเดียวกับกฎหมายข้อมูลข่าวสาร
ตอบ : คือสิทธิเข้าถึงข้อมูลส่วนราชการนั้น มันมีทั้งกลุ่มที่เป็นอำนาจเรียกข้อมูลของกระบวนการยุติธรรม อีกกลุ่มหนึ่งเป็นสิทธิของสาธารณชนที่อยากรู้โดยไม่ต้องมีส่วนได้เสียอะไร กลุ่มนี้มีกฎหมายข้อมูลข่าวสารทางราชการรับรองไว้ ให้เข้าถึงได้ เว้นแต่จะอยู่ในข้อยกเว้นที่ห้ามเข้าถึง
ด้วยความเข้าใจอย่างนี้ เมื่อผู้บัญญัติกฎหมายสุขภาพแห่งชาติเขาเห็นว่า การเข้าถึงข้อมูลสุขภาพบุคคล ต้องมีอำนาจตามกฎหมายเฉพาะเพื่อกิจการใดในอำนาจรัฐเท่านั้น เขาจึงไม่รับรองให้ใครอ้างสิทธิสาธารณะมาขอให้เปิดเผยข้อมูลสุขภาพได้ โดยบัญญัติว่าห้ามหมดเลยไม่ว่าจะเป็นสิทธิตามกฎหมายข้อมูลส่วนราชการหรือกฎหมายอื่น (ถ้ามี) ก็ตาม
ถาม : แสดงว่า ปัญหานี้เกิดจากการบัญญัติกฎหมายไม่ชัดอย่างนั้นหรือครับ
ตอบ : ผมว่าเขาน่าจะเขียนได้ดีกว่านี้เท่านั้น เช่นเขียนว่า “ข้อมูลสุขภาพบุคคลจะขอให้เปิดเผยได้ก็แต่โดยอำนาจของกฎหมายเท่านั้น แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการขอให้เปิดเผยตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารราชการและกฎหมายอื่นในทำนองเดียวกัน” ถ้าเขียนชัดอย่างนี้ ก็หมดปัญหา
ถาม : สรุปแล้วการตรวจสอบของ ปปช.ไม่มีอุปสรรคตามกฎหมายข้อมูลมาขัดขวางเลยใช่ไหมครับ
ตอบ : ผมขอยืนยันว่าไม่มีแน่นอน มีแต่เรื่องความยึดมั่นในหน้าที่เท่านั้นว่า มีปัญหาหรือไม่