KEY
POINTS
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติ เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2567 รับพิจารณาคดีที่ บิ๊กโจ๊ก - พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.) กับพวก รวม 5 คน ถูกกล่าวหา เรียกรับเงินซึ่งพัวพันกับเว็บพนันออนไลน์เครือข่ายมินนี่ และร่วมกันฟอกเงิน
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเห็นว่า เป็นการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งสูงกว่าระดับผู้อำนวยการ และกล่าวหาว่า เป็นการกระทำความผิดร้ายแรง ซึ่งอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. คณะกรรมการจึงมีมติให้รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาดำเนินการตรวจสอบและไต่สวนเอง
รวมทั้งพิจารณาว่า ในสำนวนแรกที่กล่าวหา พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิศมัย กับพวกนั้น เป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องกัน จึงมีมติให้ขอสำนวนคืนมาทั้งหมด เพื่อมาพิจารณาในคราวเดียวกัน
ส่วนกรอบระยะเวลาการทำงานนั้น นายนิวัติไชย กล่าวว่า การดำเนินการต้องดูข้อมูลที่พนักงานสอบสวนจะส่งมา เพราะส่งมายังไม่ครบ หากส่งมาครบก็สามารถสั่งไต่สวนได้เลย ไม่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
“จริงๆ วันนี้ได้คุยกันเรื่องกรอบเวลาการทำงานด้วย แต่ยังไม่เห็นชัดว่า สำนวนนั้น มีพยานหลักฐานอะไร เพราะเห็นทางอัยการเองก็มีการสั่งให้ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติม ดังนั้น ต้องดูสำนวนตำรวจก่อน หากครบแล้วก็ไต่สวนได้ ซึ่งการตั้งไต่สวนอาจเป็นคณะกรรมการป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะ แต่ขอดูสำนวนก่อน”
และขณะนี้อยู่ระหว่างการทำหนังสือให้มีการส่งคืนเรื่องกลับมา หากส่งกลับมาแล้ว ป.ป.ช.ก็จะเรียกประชุมเลย เบื้องต้นสัปดาห์นี้ ป.ป.ช. น่าจะสามารถส่งหนังสือออกไปได้ เพราะที่ประชุมมีมติว่า ให้สำนักงานฯ ดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม
“ถ้าสำนวนที่ส่งมาครบถ้วน ก็สั่งไต่สวนได้เลย และแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งจะให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง ถ้าชี้แจงแล้วฟังไม่ได้ ก็จะสรุป เพื่อมีคำวินิจฉัย”
นายนิวัติไชย ย้ำว่า การที่ป.ป.ช.รับเรื่องนี้ไว้พิจารณาเองนั้น ขอยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการดึงเรื่อง หรือมีความสัมพันธ์ส่วนตัวอะไร แต่ที่ดึงคืนมาเพราะเป็นเรื่องร้ายแรง มอบหมายไม่ได้ ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 อยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องร้ายแรง มอบไม่ได้ ทั้งนี้ กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐหากเป็นระดับล่างอาจจะมอบได้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงมอบไม่ได้
ทั้งนี้กรรมการป.ป.ช.ปัจจุบันเหลืออยู่ 5 คน ประกอบด้วย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. นายวิทยา อาคมพิทักษ์ น.ส.สุวณา สุวรรณจูฑะ นายสุรชาติ ตระกูลเกษมสุข และ นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ เป็นกรรมการ
มีรายงานว่า มติป.ป.ช.ที่รับเรื่องดังกล่าวไว้ดำเนินการเอง เป็นมติเสียงข้างมาก 4 ต่อ 1 โดยเสียงข้างน้อย 1เสียงคือ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข
ก่อนหน้านั้น คณะพนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) ตรวจสอบเครือข่ายเว็บการพนัน “มินนี่” น.ส.ธันยนันท์ สุจริตชินศรี ส่งคดีมาให้ ป.ป.ช.ดำเนินการเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 149 เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2566
สำหรับคดีที่ บก.สอท. ตรวจสอบเครือข่ายเว็บการพนัน “มินนี่” นั้น แบ่งออกเป็น 2 สำนวน สำนวนแรก มีผู้ต้องหา 61 คน ทั้งตำรวจและประชาชน มูลค่าความเสียหายกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นคดีหลัก
ส่วนสำนวนคดีที่ 2 มีผู้ต้องหา 5 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด ประกอบด้วย
1. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
2. พล.ต.ต.ไพโรจน์ กุจิรพันธ์ ข้าราชการบำนาญ ที่ปรึกษาของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์
3. พ.ต.อ.แดนไพร แก้วเวหล รองผู้บังคับการสืบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
4. พ.ต.อ.นฤวัต พุทธวิโร ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี
5. ส.ต.อ.ณัฐนันท์ ชูจักร ผบ.หมู่ สายตรวจ 3 กองบังคับการตำรวจจราจร กองบัญชาการตำรวจนครบาล
โดย “คดีมินนี่ 2” ในส่วนที่ปรากฏชื่อ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นผู้ถูกกล่าวหานั้น บก.สอท. กล่าวหากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมาตรา 149 เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สิน กรณีพบความเชื่อมโยงไปยังกลุ่มบัญชีม้าเครือข่ายเว็บพนัน “มินนี่” น.ส.ธันยนันท์ สุจริตชินศรี
ป.ป.ช.สอบเองผลดีต่อ“บิ๊กโจ๊ก”
ก่อนหน้านั้น พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในฐานะคณะกรรมการสืบสวน และรองหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีเว็บพนันมินนี่ ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ทำหนังสือไปยัง ป.ป.ช. เพื่อขอรับสำนวนที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กับพวกตำรวจรวม 5 คน ที่ถูกพนักงานสอบสวน กล่าวหาว่า กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ
และมาตรา 149 เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินฯ กรณีพบความเชื่อมโยงไปยังกลุ่มบัญชีม้าเครือข่ายเว็บพนันของ "มินนี่" น.ส.ธันยนันท์ สุจริตชินศรี
พร้อมระบุว่า หากได้รับสำนวนกลับมาเตรียมดำเนินคดีข้อหาฟอกเงินเพิ่มอีกด้วย
ต่อมาวันที่ 22 ก.พ. 2567 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ออกมาแถลงตอบโต้ว่า ท่านน่าจะสำคัญผิด หรือ เหิมเกริม หรือ น่าจะออฟไซด์ เพราะต้องเข้าใจว่าสำนวนนี้ส่งไป ป.ป.ช.ตั้งแต่ปีที่แล้ว
ต้องเรียนว่า ป.ป.ช.เป็นหน่วยงานตรวจสอบทุจริตโดยตรง เป็นระบบไต่สวน ซึ่งรอบคอบกว่าระบบกล่าวหาของตำรวจ และสำนวนคดีนี้ส่งไป ป.ป.ช.ตั้งแต่ปีที่แล้ว อยู่ๆ วันนี้คึกคักอยากไปเอากลับมา มีการทำหนังสือไปถึง ป.ป.ช.จะเอาสำนวนกลับ แล้วไปแถลงบอกว่า ป.ป.ช.ต้องส่งมาให้ตำรวจ “คุณยศอะไร” ไปแถลงข่าวกดดัน ป.ป.ช.เขาได้อย่างไร
คุณเป็นใคร ระบบไต่สวน ป.ป.ช.เขามีความน่าเชื่อถือมากกว่า หรือไม่มากกว่าระบบกล่าวหาตำรวจ คุณใหญ่โตมายังไงไปกดดัน ป.ป.ช. แล้วพูดได้อย่างไรส่งมาให้ตำรวจ ตำรวจทำเร็วกว่า พูดอย่างนี้ไปดูถูกกการทำงาน ป.ป.ช.หรือเปล่า
“ที่รองผู้บัญชาการบอกว่าตำรวจทำไปเยอะแล้ว ถ้าคุณทำไปเยอะแล้วจะกังวลอะไร ทำไมต้องเอากลับมา ป.ป.ช.เป็นหน่วยงานตรวจสอบทุจริตโดยตรง มีความรอบคอบ และการพิจารณาในศาล ที่ ป.ป.ช.ไต่สวนให้ถือสำนวน ป.ป.ช.เป็นสำนวนหลัก เพราะมีความน่าเชื่อถือ ป.ป.ช.เขามีองค์คณะถึง 9 คน มีทั้งศาล อัยการ แสดงว่าคุณไม่เชื่อมั่นการไต่สวนของ ป.ป.ช.หรือเปล่า”
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า การที่บอกว่าที่ส่งเรื่องของผมไปทั้งหมด เปรียบเทียบเหมือนบัตรสนเท่ หรือ ใบปลิว หรือ การร้องเรียนไป ป.ป.ช. ไม่ใช่ว่า ป.ป.ช.เขาจะรับเลย เขาต้องตรวจสอบก่อนว่ามีมูลหรือเปล่า ถ้าไม่มีมูลเพียงพอเขาก็ไม่รับตีตกไป ถ้ามีมูลเบี้องต้นก็ต้องแสวงหาข้อเท็จจริง ถ้ามีมูลถึงจะเริ่มตั้งไต่สวน ถึงจะแจ้งข้อกล่าวหา หากแจ้งข้อกล่าวหา กฎหมาย ป.ป.ช.ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จะเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ก็เมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูล
“กระบวนการเขารอบคอบมากกว่า การที่ส่งเรื่องกล่าวหาผมไปที่ ป.ป.ช. เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตเท่านั้น”
รอง ผบ.ตร. กล่าวต่อว่า ตนทำคดีมาเยอะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนมาเยอะ ดำเนินคดีตำรวจ ตม.107 นาย ส่งสำนวนไป ป.ป.ช.ก็ไม่เคยออกมาแถลงข่าว วันนี้ตำรวจ ตม.107 นาย เป็นแค่ข้อสังเกตไม่รู้ว่า ป.ป.ช.จะรับหรือไม่รับ ถ้าพิจารณาไม่ผิดก็ต้องตีตก มันต้องมืออาชีพดำเนินคดีแล้วต้องให้ความเป็นธรรมเขาไปต่อสู้เอา ตามกระบวนการยุติธรรม
“ป.ป.ช.เป็นระบบไต่สวน ตำรวจเป็นระบบกล่าวหา ผมกำลังชั่งน้ำหนักว่าอันไหนมีน้ำหนักมากกว่ากัน สำนวนส่งไปตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ป.ป.ช.ไม่ได้ส่งสำนวนกลับมา ผมคิดเอาเองว่า ป.ป.ช.คงคิดว่าตำรวจทะเลาะกันเอง ป.ป.ช.เขาไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของตำรวจหรอก เพราะเขาเป็นหน่วยงานที่ผดุงความยุติธรรม ตรวจสอบการทุจริตโดยตรง แล้วไปพูดอย่างนี้มันเสียหาย วันนี้สรุปไม่มีการแจ้งข้อตนใดๆ ทั้งสิ้น ผมยังเป็นผู้บริสุทธิ์ 100% มีการแจ้งเฉพาะลูกน้องผมเท่านั้น” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว
สุ้มเสียงของ “บิ๊กโจ๊ก” ดูจะมั่นใจในกระบวนการสอบสวนของ “ป.ป.ช.” มากกว่า “ตำรวจ” ที่เขาคิดว่าตนเองถูกกลั่นแกล้ง
และเมื่อคดีอยู่ในมื้อ ป.ป.ช.แล้ว “ความยุติธรรม” น่าจะมีความหวังมากกว่าเช่นกัน
อีกประเด็นคือ เมื่อเรื่องอยู่ในมือ ป.ป.ช. ก็ยังไม่รู้ว่า ป.ป.ช. จะใช้เวลาสอบสวนไต่สวนนานแค่ไหน
ยิ่ง ป.ป.ช.ใช้เวลานานเท่าไหร่ ก็อาจเป็นผลดีต่อ “บิ๊กโจ๊ก” เต็ง 1 ที่มีโอกาสลุ้นตำแหน่ง “ผบ.ตร.คนที่ 15” ซึ่งไม่เกินเดือน ส.ค. 2567 นี้ ก็คงจะมีการเคาะชื่อออกมาแล้ว...