เมื่อคดีสุดท้ายของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้มาถึงที่สิ้นสุด ในวันที่ 4 มีนาคม 2567 โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อม.2/2565 และคดีหมายเลขแดงที่ อม.5/2567 เกี่ยวกับการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต มุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม กรณีการจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 วงเงิน 239,700,000 บาท
นางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลยที่ 1 พร้อมพวกอีก 5 คน ได้แก่ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ,นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ,บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ,บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) และ นายระวิ โหลทอง เป็นจำเลยที่ 2-3 ซึ่งศาลฎีกาฯ มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด โดยระบุเหตุผลว่า ไม่พบเจตนาในการเอื้อประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้าง และมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วย
จึงถือว่าขณะนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ เหลือโทษจำคุกเพียงคดีเดียว นั่นคือคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 5 ปี ส่วนคดีโยกย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี” เลขาธิการ สมช. ขณะนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษา “ยกฟ้อง” ส่วนคดีระบายข้าว "จีทูจีภาคสอง" ป.ป.ช.มีรายงานเมื่อปลายปี 65 ว่า ป.ป.ช.มีมติ "ยกคำร้อง" ทั้งทักษิณและน.ส.ยิ่งลักษณ์
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นที่จับตาดูความเป็นไปได้ที่นางสาวยิ่งลักษณ์ จะเดินทางกลับประเทศไทยแบบเท่ๆ เช่นเดียวกับพี่ชาย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ถึงฉากทัศน์ต่อจากนี้ ซึ่งอ.ธนพร วิเคราะห์ว่านางสาวยิ่งลักษณ์ จะเดินทางกลับมายังประเทศไทยเช่นเดียวกับนายทักษิณภายในปี 2567 อย่างแน่นอนเกิน ล้านเปอร์เซ็นต์ โดยคาดว่าจะเป็นการเดินทางกลับในช่วงประมาณกลางปี 2567 ซึ่งจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว และเป็นการกลับมาอย่างสะดวกไร้อุปสรรค เพราะเป็น "รัฐบาลมีเส้น"
พร้อมให้เหตุผลว่าไม่มีสภาพแวดล้อมไหนแล้ว ที่จะเหมาะสมกับการเดินทางกลับประเทศไทยได้เท่ากับช่วงเวลานี้ เพราะพรรคเพื่อไทย สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างมีเสถียรภาพ นายเศรษฐา ก็เคยเป็นที่ปรึกษาของนางสาวยิ่งลักษณ์ และเมื่อคดีความได้ถึงที่สุดหมดแล้ว ต่อไปก็เป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์ในการบริหารโทษ อีกทั้งยังเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา
อ.ธนพร เชื่อว่าขณะนี้การเตรียมการเพื่อให้นางสาวยิ่งลักษณ์กลับประเทศไทยได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยผู้รับผิดชอบ หลัก 2 ท่านคือ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงยุติธรรม
เมื่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย ก็จะมีกระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ดังนั้นกระบวนการเดินทางกลับมารับโทษยังประเทศไทย เชื่อว่าจะเป็นไปโดยสะดวกไม่ต่างกับนายทักษิณ ชนิดที่เรียกว่าสามารถเลือกรันเวย์ลงจอดเครื่องบินยังได้
ส่วนประเด็นที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เจ็บป่วยโรคประจำตัวร้ายแรง และไม่ได้เข้าเกณฑ์ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไปเหมือนเช่นนายทักษิณนั้น อ.ธนพรกล่าวว่า ไม่ใช่อุปสรรค เพราะประกาศของกรมราชทัณฑ์ มีจำนวนหลายฉบับ อาจจะยังมีประกาศกรมราชทัณฑ์ ที่สาธารณชนยังไม่เคยเห็นอีกก็เป็นไปได้
หรือแม้กระทั่งกฎระเบียบต่างๆของทางราชการก็สารถปรับแก้ได้ทั้งนั้น เพราะไม่จำเป็นต้องผ่านสภาเหมือนการตรากฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมาย นอกจากนี้นายท้ายประกาศการคุมขังนอกเรือนจำนั้น ยังมีบทท้ายที่ให้เป็นดุลพินิจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ที่เรียกว่าเป็นบทกวาด ในการพิจารณาได้อีกด้วย
อ.ธนพร กล่าวยืนยันว่า การชิงจังหวะกลับบ้านในวันที่มีอำนาจ ไม่มีอะไรต้องน่ากังวล และไม่มีความจำเป็นต้องรอกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะกฎหมายนิรโทษเป็นการนิรโทษให้กับคดีทางการเมือง แต่นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องโทษจำคุกในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต จะทำให้ไม่สามารถอธิบายกรณีบุคคลอื่นที่ถูกพิพากษาจำคุกไปก่อนหน้านี้แล้วได้ เช่น นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์