วันที่ 18 มีนาคม 2567 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งได้รับมอบหมายจากกกต.ให้เป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีแทนกกต. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรค ก้าวไกล และ ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล
ตามพ.ร.ป.ว่าพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) จากเหตุมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกลกระทำการ #ล้มล้างการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้วเมื่อช่วงก่อนเที่ยงที่ผ่านมา โดยเป็นการยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ E-filing ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด
ทั้งนี้ คำร้องยุบพรรคก้าวไกลดังกล่าวเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเป็นมติเอกฉันท์ ว่าการที่นาย พิธาลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้นและพรรคก้าวไกล เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ.เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112
โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง
ซึ่งนายธีระยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของพระพุทธะอิสระ และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ยื่นคำร้องขอให้กกต.ดำเนินการเอาผิดกับพรรคก้าวไกลตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
โดยเมื่อวันที่ 12 มีนาคม กกต.ได้มีมติเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และสำนักงานฯได้ดำเนินการยกร่างคำร้องก่อนที่กกต.ทั้ง 6 คนจะลงนาม ก่อนยื่นคำร้องในวันนี้
ซึ่งจากนี้ต้องรอดูว่า การประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ปกติจะมีการประชุมประจำสัปดาห์ทุกวันพุธนั้น ในวันพุธที่ 20 มี.ค.นี้ จะมีคำร้องดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาหรือไม่ และศาลจะมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้วินิจฉัยหรือไม่ หากจะมีคำสั่งให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป