วันนี้ (20 มีนาคม 2567) รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ภายหลังจากความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติยืดเยื้อยาวนาน ส่งผลให้ภาพลักษณ์ขององค์กรตำรวจไม่ดีต่อสายตาประชาชน และมีแนวโน้มไม่มีข้อยุติ มิหน้ำซ้ำสถานการณ์กลับบานปลาย มีการแถลงข่าวตอบโต้กันไปมา
ล่าสุดในวันนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในคำสั่ง จำนวน 3 ฉบับ ดังนี้ ฉบับแรก คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 106 /2567 เรื่อง ให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่สอง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 108/ 2567 เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจรักษาราชการแทน
ฉบับที่ 3 คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 109 / 2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สำหรับรายละเอียดคำสั่งนายกรัฐมนตรี จำนวน 3 ฉบับ มีดังนี้
ฉบับแรก คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 106 /2567 เรื่อง ให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี
ด้วยปรากฎข้อเท็จจริงเป็นข่าวต่อสาธารณะโดยทั่วไปในลักษณะต่อเนื่องติดกันตลอดเวลานับแต่ช่วงระยะเวลาก่อนและหลังการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 จนถึงปัจจุบัน แม้พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้ว
แต่ในฐานะที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องปฏิบัติราชการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจ มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามควรที่ปรากฏถึงความขัดแย้ง
จนที่เป็นที่ประจักษ์ทั้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติและประชาชนทั่วไป แบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาลรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งในทางการบริหารงานบุคคล และงานด้านกระบวนการยุติธรรม จนถึงขนาดมีการกล่าวหาต่อกันและกันในเรื่องส่วนตัว
ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งที่ 247/2566 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีการเข้าค้นบ้านพักของข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเคหสถานอื่นหลายแห่งทั่วประเทศมาครั้งหนึ่งแล้ว
จนกระทั่งที่สุดถึงขนาดมีการกล่าวหาให้มีการดำเนินคดีอาญา แสดงให้เห็นถึงความปฏิปักษ์ต่อกัน และความขัดแย้งส่อจะลุกลามบานปลายจนไม่อาจหาข้อยุติได้
ทั้งที่ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมกันรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน และความมั่นคงของราชอาณาจักร ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่
โดยต้องประพฤติปฏิบัติตนเหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจและอยู่ในจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ และเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม หากไม่กระทำการใด ๆ อาจเป็นเหตุให้ราชการและประชาชน ประเทศชาติ เสียหายได้
ดังนั้น เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถปฏิบัติหน้าที่ที่เป็นภารกิจหลักและบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว และเพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ใช้อำนาจให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด สมควรพิจารณาสั่งการให้ พลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุขวิมล และพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล ไปปฏิบัติราชการนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ.2534 จึงมีคำสั่งให้ พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม และให้ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษ และสิทธิประโยชน์อื่นใดไม่ต่ำกว่าที่ได้รับอยู่เดิม โดยเบิกจ่ายจากสังกัดเดิม
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประการอื่น
สั่ง ณ วันที่ 20 มีนาคม 2567
(นายเศรษฐา ทวีสิน)
นายกรัฐมนตรี
ฉบับที่สอง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 108/ 2567 เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจรักษาราชการแทน
ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 106/2567 ให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 20 มีนาคม 2567 เป็นเหตุให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่สามารถปฏิบัติราชการได้
ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คล่องตัว มีประสิทธิภาพ และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ตามหน้าที่และอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในระหว่างที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 105 (1) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ให้ พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รักษาราชการแทนในตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยให้ผู้รักษาราชการแทนมีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2567 เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 20 มีนาคม 2567
(นายเศรษฐา ทวีสิน)
นายกรัฐมนตรี
ฉบับที่ 3 คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 109 / 2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 106/2567 เรื่อง ให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 20 มีนาคม 2567 นั้น
โดยกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง และมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่จะต้องรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนความมั่นคงของราชอาณาจักรตามหน้าที่และอำนาจที่รัฐธรรมนูญกฎหมายกำหนดไว้
การที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะต่อเนื่องติดต่อกัน มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และมีการดำเนินคดีตามกฎหมายซึ่งกันและกัน จนเป็นที่ประจักษ์ทั้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติและประชาชนทั่วไป จนกระทบต่อการบริหารงานบุคคล และงานด้านกระบวนการยุติธรรม ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน และอาจทำให้ประโยชน์ของทางราชการเสียหาย
จึงเป็นเหตุสมควรที่สาธารณชนจะได้มีโอกาสทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ถูกต้อง ภายใต้หลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีผู้หนึ่งผู้ใดในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แทรกแชงคดีที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและให้การใช้อำนาจภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นไปตามหลักนิติธรรม
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบด้วย
(1) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการ
(2) นายชาติพงษ์ จีระพันธุ กรรมการ
(3) พลตำรวจเอกวินัย ทองสอง กรรมการและเลขานุการ
ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ข้อ 2 คณะกรรมการตามข้อ 1 มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายในหกสิบวัน
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องไม่ก้าวล่วงหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวในกรณีที่จำเป็น นายกรัฐมนตรีอาจมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาตามวรรคหนึ่งออกไปอีกได้ตามที่เห็นสมควร
ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการรายงานความคืบหน้าต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะทุกสิบห้าวัน
ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามคำสั่งนี้ ให้คณะกรรมการมีอำนาจเชิญ หรือประสานขอความร่วมมือ หรือขอเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ จากเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือบุคคลภายนอก เพื่อตรวจสอบ สอบถาม หรือขอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาได้ และให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่ได้รับเชิญหรือขอความร่วมมือ ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการโดยถือเป็นลำดับความสำคัญเร่งด่วนที่สุด
ข้อ 4 ให้คณะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการได้รับเบี้ยประชุมตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะทำงานเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อพิจารณาศึกษาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้ โดยให้คณะทำงานได้รับค่าตอบแทนตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
เบี้ยประชุมตามวรรคหนึ่งและค่าตอบแทนตามวรรคสองให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 20 มีนาคม 2567
(นายเศรษฐา ทวีสิน)
นายกรัฐมนตรี