เป็น“ทหารเกณฑ์”แล้วได้อะไรบ้าง “รมว.กลาโหม”ตอบกระทู้ประกาศลงราชกิจจาฯ

29 มี.ค. 2567 | 07:56 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2567 | 08:33 น.

ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม แจงละเอียดยิบ เป็น “ทหารเกณฑ์” แล้วได้อะไรบ้าง ในการตอบกระทู้ถามของ ส.ส.กระบี่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๗ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ การตอบกระทู้ของ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ถามโดย นายสฤษฎ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ พรรค เรื่อง การทบทวนหลักเกณฑ์การเกณฑ์ทหาร

คําถามข้อที่ ๑ กระทรวงกลาโหมจะสามารถทบทวนหลักเกณฑ์การเกณฑ์ทหารตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ หรือตั้งคณะทํางานศึกษาวิจัยเพื่อทบทวนกฎหมายว่าด้วย การรับราชการทหารเพื่อให้มีหลักเกณฑ์การเกณฑ์ทหารที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ ในปัจจุบัน สามารถแก้ไขปัญหาการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม และเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลมีเสรีภาพ ในการประกอบอาชีพ เช่น การมีระบบการคัดเลือกโดยสมัครใจและเพิ่มสวัสดิการ ได้หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

                        

นายสุทิน ตอบคำถามข้อที่ ๑ ว่า กระทรวงกลาโหมดําเนินการคัดเลือกทหารกองประจําการตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ มีแนวทางและมาตรการในการลดจํานวนทหาร กองประจําการ และมาตรการในการสร้างแรงจูงใจให้มีผู้สนใจสมัครเข้ารับราชการทหารโดยวิธีร้องขอ จนนําไปสู่ระบบสมัครใจโดยสมบูรณ์ 

                    เป็น“ทหารเกณฑ์”แล้วได้อะไรบ้าง “รมว.กลาโหม”ตอบกระทู้ประกาศลงราชกิจจาฯ

ประกอบด้วย การพิจารณาปรับโครงสร้างการจัดของหน่วย เพื่อให้หน่วยมีขนาดที่กะทัดรัดคล่องตัว และปรับลดกําลังพลข้าราชการรวมทั้งทหารกองประจําการลง โดยพิจารณาบรรจุกําลังพลให้มีความเหมาะสมกับภารกิจ โดยที่ไม่กระทบกับขีดความสามารถ ในการปฏิบัติภารกิจของกองทัพ 

การพิจารณาแก้ไขกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มกลุ่มบุคคล ในการเข้ารับราชการทหารกองประจําการ

เช่น แนวทางการให้ผู้ที่สําเร็จการศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ ๓ และ ทหารกองประจําการที่ปลดประจําการแล้ว สามารถร้องขอเข้ารับราชการทหารกองประจําการได้อีก ซึ่งจะเป็นการลดจํานวนผู้ที่ต้องเข้ารับการตรวจเลือก

ดําเนินการศึกษา/วิจัย เพื่อสร้างทัศนคติที่ดี ในการเข้ารับราชการทหารกองประจําการ ให้มีทัศนคติเชิงบวกกับกองทัพ รู้สึกว่าได้รับโอกาสมีความภาคภูมิใจในการเข้ารับใช้ชาติ 

รวมทั้งพัฒนาระบบการฝึก ให้สามารถพัฒนาทหารกองประจําการ ในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านร่างกาย สติปัญญา ทัศนคติ สังคมและอารมณ์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับบริบทในปัจจุบัน 

คําถามข้อที่ ๒ กระทรวงกลาโหมจะมีนโยบายหรือมาตรการในการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้มีความสนใจเพื่อให้สมัครใจเป็นทหารอาสาสมัคร และกําหนดสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับของบุคคลที่จะเข้ารับราชการทหาร ให้ชัดเจน เช่น เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง ค่าครองชีพ รวมถึงอาหารสําหรับพลทหาร เพื่อให้บุคคลที่จะเข้ารับราชการทหาร และระหว่างการฝึกปฏิบัติมีสวัสดิการและมีคุณภาพชีวิตในระดับที่ดีขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร ขอทราบรายละเอียด

รมว.กลาโหม ตอบคำถามข้อที่ ๒ ว่า ทหารกองประจําการตามปกติแล้วจะได้รับสวัสดิการ ประกอบด้วย ได้รับเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง และเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวรวมแล้วเดือนละ ๑0,000 บาท 

ได้รับเครื่องแบบ/เครื่องแต่งกาย เครื่องนอนและของใช้ส่วนตัวที่จําเป็น สิทธิการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม ได้ทุกแห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

สิทธิในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนทหารของเหล่าทัพ และสอบคัดเลือกเข้ารับราชการทหาร โดยมีโควตาและคะแนนเพิ่มพิเศษ สิทธิในการสมัครรับราชการต่อ หลังจากที่ครบปลดประจําการแล้ว 

รวมทั้งสิทธิอื่น ๆ เช่น ได้รับการฝึกอาชีพ และจัดหางานรองรับ หลังจากครบปลดประจําการ 

ได้รับการจัดการศึกษานอกระบบ/ตามอัธยาศัย 

การเลี้ยงดูโดยหน่วยต้นสังกัด จัดที่พัก และจัดเลี้ยงอาหารให้จํานวน ๓ มื้อ/วัน

                         เป็น“ทหารเกณฑ์”แล้วได้อะไรบ้าง “รมว.กลาโหม”ตอบกระทู้ประกาศลงราชกิจจาฯ

กระทรวงกลาโหมได้คํานึงถึงสิทธิและสวัสดิการของทหารกองประจําการเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้มีผู้สนใจสมัครเข้ารับราชการทหารกองประจําการ โดยดําเนินการพิจารณาแนวทางการเพิ่มสวัสดิการ ประกอบด้วย 

แนวทางการให้ทหารกองประจําการได้รับเงิน หลังจากที่หักค่าประกอบเลี้ยงแล้วเป็นเงิน ๑0,000 บาทถ้วน/เดือน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทาง การดําเนินการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

การส่งเสริมความก้าวหน้าในอาชีพ ทั้งใน และ นอกกองทัพ โดยให้ทหารกองประจําการมีสิทธิสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนทหาร ข้าราชการทหาร ทหารอาสา หรือ ข้าราชการพลเรือนกลาโหม โดยมีโควตาและคะแนนเพิ่มพิเศษ 

ประสานหน่วยงานอื่น ภาครัฐที่มีภารกิจการปฏิบัติงาน ในลักษณะที่ต้องใช้อาวุธ หรือต้องผ่านการฝึกระเบียบวินัย เพื่อให้กําหนดคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ารับราชการ จะต้องผ่านการเป็นทหารกองประจําการมาก่อน 

จัดทําประกัน ชีวิตให้กับทหารกองประจําการให้เหมาะสม และครอบคลุมกับทุกภารกิจที่ต้องปฏิบัติ 

พัฒนาระบบการให้บริการของสถานพยาบาล สังกัดกระทรวงกลาโหมทุกแห่งเพื่อรองรับการให้บริการรักษาพยาบาล ที่สะดวก และมีประสิทธิภาพ 

ให้ทหารกองประจําการมีสิทธิเหมือนข้าราชการทหารประจําการ ในการใช้บริการสวัสดิการต่าง ๆ ของเหล่าทัพ 

ตลอดจนพัฒนาปรับปรุงทั้งด้านที่พักอาศัย และคุณภาพอาหารที่ดําเนินการประกอบเลี้ยง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป
 

คลิกดูจากราชกิจจานุเบกษา