ก.อ.รื้อใหม่หลักเกณฑ์-วิธีการสอบ“ข้าราชการอัยการ”ถูกกล่าวหาทำผิดวินัย

01 เม.ย. 2567 | 11:17 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2567 | 11:29 น.

ราชกิจจาฯ ประกาศระเบียบ ก.อ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนชั้นต้นข้าราชการอัยการ กรณี “ข้าราชการอัยการ” ถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทําผิดวินัย มีผล 30 มี.ค. 67 เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๗ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ระเบียบคณะกรรมการอัยการ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนชั้นต้นข้าราชการอัยการ พ.ศ. ๒๕๖๗ ซึ่งลงนามโดย นายเรวัตร จันทร์ประเสริฐ ประธานคณะกรรมการอัยการ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓๐ มี.ค. ๒๕๖๗ เป็นต้นไป ระบุว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนชั้นต้นกรณีข้าราชการอัยการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทําผิดวินัย และการรายงานผลการสอบสวนชั้นต้น ที่ปรากฏว่ามีมูลเป็นกรณีกระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง พ.ศ. ๒๕๕๔ เพื่อให้การดําเนินการสอบสวน ชั้นต้นข้าราชการอัยการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๓๐ (๑๑) มาตรา ๗๔ วรรคสอง และมาตรา ๗๕ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ คณะกรรมการอัยการจึงออกระเบียบ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการ สอบสวน ชั้นต้นข้าราชการอัยการ พ.ศ. ๒๕๖๗

                       ก.อ.รื้อใหม่หลักเกณฑ์-วิธีการสอบ“ข้าราชการอัยการ”ถูกกล่าวหาทำผิดวินัย
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนชั้นต้น กรณีข้าราชการอัยการถูกกล่าวหาหรือเป็นที่สงสัยว่ากระทําผิดวินัย และการรายงานผลการสอบสวนชั้นต้น ที่ปรากฏว่ามีมูลเป็นกรณีกระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรง พ.ศ. ๒๕๕๔

ข้อ ๔ ในระเบียบนี้

“การสอบสวน” หมายความว่า การดําเนินการสอบสวนชั้นต้นแก่ข้าราชการอัยการผู้ถูกกล่าวหา หรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทําผิดวินัย

“ข้าราชการอัยการ” หมายความว่า ข้าราชการอัยการทุกตําแหน่ง ยกเว้นอัยการสูงสุด และรองอัยการสูงสุด

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นข้าราชการอัยการ “ประธานกรรมการ” หมายความว่า ประธานกรรมการสอบสวนชั้นต้นข้าราชการอัยการ “ผู้ได้รับมอบหมาย” หมายความว่า ข้าราชการอัยการผู้ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ให้ทําการสอบสวนชั้นต้น

“ผู้ดําเนินการสอบสวน” หมายความว่า ผู้บังคับบัญชา ผู้ได้รับมอบหมาย หรือคณะกรรมการ 
ข้อ ๕ ให้ผู้บังคับบัญชาดังนี้ มีอํานาจดําเนินการสอบสวน

(๑) อัยการสูงสุด สําหรับข้าราชการอัยการทุกตําแหน่ง ยกเว้นรองอัยการสูงสุด

(๒) อธิบดีอัยการ อธิบดีอัยการภาค หรืออัยการจังหวัด สําหรับข้าราชการอัยการทุกตําแหน่ง ซึ่งอยู่ในบังคับบัญชา

ข้อ ๖ เมื่อข้าราชการอัยการผู้ใดถูกกล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทําผิดวินัยให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาดําเนินการสอบสวนเพื่อให้ได้ความจริงและเป็นธรรมโดยมิชักช้า การดําเนินการสอบสวนโดยผู้บังคับบัญชาตามข้อ ๕ (๒) ให้ผู้บังคับบัญชาดังกล่าวรายงานสํานักงานอัยการสูงสุดทราบทันที

การกล่าวหาดังนี้ ผู้บังคับบัญชาอาจไม่ดําเนินการสอบสวนก็ได้

(๑) การกล่าวหาเป็นบัตรสนเท่ห์ซึ่งไม่มีพยานหลักฐานแวดล้อมปรากฏชัดแจ้ง ตลอดจน ไม่ชี้พยานบุคคลแน่นอนพอที่จะสอบสวนได้

(๒) การกล่าวหาไม่มีข้อมูล หรือไม่มีสาระเพียงพอให้สอบสวนหาความจริงได้

ข้อ ๗ ในกรณีที่มีผู้ถูกกล่าวหาหลายคน ถ้าผู้ถูกกล่าวหาบางคนไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาของตน ผู้บังคับบัญชานั้นไม่มีอํานาจดําเนินการสอบสวน ทั้งนี้ ให้รีบรายงานผู้บังคับบัญชาเหนือตนที่มีอํานาจเพื่อพิจารณาดําเนินการ

ข้อ ๘ ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาพิจารณาเห็นว่าการกล่าวหาหรือกรณีเป็นที่สงสัยว่ากระทําผิดวินัย ตามข้อ ๖ เป็นกรณีที่จะดําเนินการสอบสวนได้ ผู้บังคับบัญชาอาจมอบหมายให้ข้าราชการอัยการ คนใดคนหนึ่งซึ่งมีอาวุโสไม่ต่ํากว่าผู้ถูกกล่าวหา หรือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นข้าราชการอัยการ เป็นผู้ดําเนินการสอบสวนแทนก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามแบบ วนช.๑ แนบท้ายระเบียบ

ในระหว่างการสอบสวน หากผู้ดําเนินการสอบสวนพบว่ามีการกระทําผิดวินัยในเรื่องอื่น
หรือกรณีที่การสอบสวนพาดพิงไปถึงข้าราชการฝ่ายอัยการผู้อื่น หรือมีข้าราชการฝ่ายอัยการผู้อื่น ร่วมกระทําผิดด้วย ให้มีอํานาจสอบสวนการกระทําผิดในเรื่องดังกล่าว หรือสอบสวนเฉพาะในส่วน ของข้าราชการอัยการก็ได้

ในกรณีมีเหตุอันสมควร ผู้บังคับบัญชานั้นอาจรายงานผู้บังคับบัญชาเหนือตนที่มีอํานาจ เพื่อพิจารณาดําเนินการตามวรรคหนึ่งก็ได้

                        ก.อ.รื้อใหม่หลักเกณฑ์-วิธีการสอบ“ข้าราชการอัยการ”ถูกกล่าวหาทำผิดวินัย

ข้อ ๙ คณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นข้าราชการอัยการ ประกอบด้วยประธานกรรมการ หนึ่งคนและกรรมการอย่างน้อยอีกสองคนที่เป็นข้าราชการอัยการซึ่งมีอาวุโสไม่ต่ํากว่าผู้ถูกกล่าวหา เว้นแต่มีความจําเป็นจะแต่งตั้งกรรมการจากข้าราชการอัยการซึ่งมีอาวุโสต่ำกว่าผู้ถูกกล่าวหาก็ได้และให้กรรมการคนหนึ่งเป็นเลขานุการ

ในกรณีจําเป็นผู้ได้รับมอบหมาย หรือ ประธานกรรมการอาจแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายอัยการ เป็นผู้ช่วยหรือผู้ช่วยเลขานุการ แล้วแต่กรณี เพื่อทําหน้าที่ช่วยเหลือในการบันทึกถ้อยคํา รวบรวมเอกสาร หรือดําเนินการอื่นตามที่ผู้ได้รับมอบหมายหรือประธานกรรมการเห็นสมควร ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามแบบ วนช.๒ แนบท้ายระเบียบ และให้แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ

เมื่อมีการมอบหมายหรือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชั้นต้นข้าราชการอัยการแล้ว หากมีเหตุสมควรหรือจําเป็นต้องเปลี่ยนแปลงบุคคลที่ได้รับมอบหมายหรือได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ ให้ผู้บังคับบัญชานั้นมีคําสั่งเปลี่ยนแปลงได้และให้นําความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับด้วย

คลิกอ่านเพิ่มเติมจากราชกิจจานุเบกษา