วันนี้ (12 เมษายน 2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งใช้เวลาวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยได้ลงพื้นที่สถานีรถไฟหัวหิน เพื่อตรวจเยี่ยมความพร้อมของสถานีรถไฟ ในการรองรับการเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชน รวมถึงรอต้อนรับประชาชนที่กลับภูมิลำเนาในอำเภอหัวหิน พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว ทั้งชาติไทย และชาวต่างชาติ ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในอำเภอหัวหิน
โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมว่า ภาพรวมเป็นไปด้วยดี โดยสถานีรถไฟหัวหิน ได้ปรับปรุงเพื่อเปิดให้บริการใหม่ มีความสะอาด และกว้างขวาง และได้เน้นย้ำให้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น
ส่วนเรื่องความตรงต่อเวลาของขบวนรถไฟนั้น ผู้โดยสารก็พึงพอใจ และใช้เวลาการเดินทางไม่มาก จากกรุงเทพฯ มายังหัวหินใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงกว่า จากที่เคยใช้เวลา 5 ชั่วโมง รวมถึงตัวโดยสารชั้นประหยัด ก็ราคาเพียง 40 บาทเท่านั้น
ส่วนการรองรับการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น นายกฯ ยืนยันว่า เพียงพอ และเชื่อว่าจะมีผู้มาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น หลังมีการพัฒนารถไฟเป็นทางคู่ และปรับปรุงสถานี พร้อมปรับเวลาการเดินรถให้ตรงเวลา
ขณะที่การพัฒนาสถานีรถไฟในจังหวัดอื่น ๆ นั้น เห็นว่า การพัฒนาการคมนาคม จากเมืองรองให้เป็นเมืองหลักเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม ทั้งความพร้อมของรถไฟทางคู่และงบประมาณ
ส่วนภาพรวมการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทั้งประเทศนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้รับรายงานจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวมถึงปลัดกระทรวงคมนาคม โดยได้เตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางของประชาชนที่จะเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังในวันนี้ (12 เม.ย.) ส่วนในช่วงวันเดินทางกลับของประชาชน อาจจะมีความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้จากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยคมนาคม ได้สรุปรายงานข้อมูลการเดินทางและอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ซึ่งข้อมูลวันที่ 11 เมษายน 2567 (สะสม 1 วัน) ประมวลผลข้อมูล ณ วันที่ 12 เมษายน 2567 เวลา 07.30 น. จากระบบการเดินทางและระบบ TRAMS พบว่า
ระบบขนส่งสาธารณะทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างเพียงพอ สำหรับการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศ มีจำนวนรวม 3,085,607 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 9.11% เปรียบเทียบกับวันเดียวกันของปีก่อน
สำหรับระบบการขนส่งทางรางมีการใช้บริการสูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 47.56% ส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ ด้านถนน ราง น้ำ และอากาศ มีจำนวนรวม 221,850 คน-เที่ยว ระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศที่มีผู้ใช้สูงสุดในแต่ละภูมิภาค ได้แก่
ขณะที่ การจราจรเข้า - ออก กรุงเทพฯ บนทางหลวงสายหลัก 10 เส้นทาง มีปริมาณ 1,106,695 คัน เพิ่มขึ้น 8.01% เปรียบเทียบกับวันเดียวกันของปีก่อน การเดินทางภายในกรุงเทพฯ บนทางด่วนมีปริมาณ 1,604,483 คัน ลดลง 0.19%
ส่วนการตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะ ณ จุดตรวจ จุดพักรถ และจุดจอด 221 แห่ง มีการตรวจรถ 12,713 คัน พบบกพร่อง 3 คัน และสั่งเปลี่ยนรถ 3 คัน ตรวจผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 12,713 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติด
สำหรับรถไฟ มีการตรวจความพร้อมผู้ปฏิบัติงาน 54 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติด และการตรวจความพร้อมท่าเรือ/แพ 161 แห่ง ตรวจเรือ 793 ลำ ไม่พบข้อบกพร่อง และตรวจผู้ปฏิบัติงาน 1,124 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติด