ทักษิณ-เมียนมา เจรจาสันติภาพกลุ่มชาติพันธุ์ล่ม ปิดประตู คนกลาง

12 พ.ค. 2567 | 10:30 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2567 | 11:00 น.

เสธ.แมว พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ฟันธง ทักษิณ ปิดประตู "คนกลาง" เจรจารัฐบาลเมียนมา-กลุ่มชาติพันธุ์ อดีตหัวหน้าพูดคุยสันติภาพยุคยิ่งลักษณ์ เปิดเบื้องหลัง มาเลเซีย-ผู้อำนวยความสะดวก "ดับไฟใต้" รัฐบาลไทยยังไม่ปิดประตูเป็น ผู้อำนวยความสะดวก

KEY

POINTS

  • พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ฟันธง ทักษิณ ปิดประตู "คนกลาง" หลัง กลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ตอบรับข้อเสนอ
  • อดีตหัวหน้าพูดคุยสันติภาพยุคยิ่งลักษณ์ เปิดเบื้องหลัง ทักษิณ ตัวเชื่อม มาเลเซีย-ผู้อำนวยความสะดวก "ดับไฟใต้"
  • ไม่ปิดประตู รัฐบาลไทย เป็น ผู้อำนวยความสะดวก เป็นหัวหอกคลี่คลายความขัดแย้งรัฐบาลเมียนมา-กลุ่มชาติพันธุ์

การออกมาแฉของสื่อต่างประเทศถึงความเคลื่อนไหวของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี-นักโทษที่อยู่ระหว่างพักโทษ-คุมประพฤติ ขอเสนอตัวเป็น mediator หรือ "คนกลาง" ในการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลก็เมียนมากับกลุ่มชาติพันธุ์ กลายเป็นบูมเมอแรง-กระแสตีกลับ

"เสธ.แมว" พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการ "ออกตัวแรง" ของทักษิณบนเวทีสันติภาพ ระหว่าง "รัฐบาลเนปิดอ" กับชนกลุ่มชาติพันธุ์ครั้งนี้ ใครต้องรับผิดชอบ

ต้องรับผิดชอบทั้งหมด แต่เนื่องจากนายทักษิณไปพูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์แบบไม่เป็นทางการ ดังนั้น คนที่ต้องรับผิดชอบคนแรกก็คือ กระทรวงยุติธรรม เพราะนายทักษิณเป็นนักโทษที่อยู่ระหว่างการพักโทษ ต้องปฏิบัติตามระเบียบของการพักโทษ

“การไปแบบไม่เป็นทางการ สังคมตั้งข้อสงสัยว่า คุณทักษิณออกไปดำเนินการแบบนี้ มีการขออนุญาต หรือรายงานกรมคุมประพฤติหรือไม่ แต่ถ้าเป็นทางการ คนที่ต้องรับผิดชอบต้องไปทั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติและกระทรวงต่างประเทศ ต้องรับผิดชอบหมด”

การที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้ออกรับหรือปฏิเสธ การพบกันของนายทักษิณกับกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่ออาสาเป็นตัวกลางเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลเมียนมา จากการรายงานของสื่อต่างประเทศจึงตั้งข้อสังเกตได้ว่าเป็นการเจรแบบไม่เป็นทางการ 

เบื้องหลังเจรจาดับไฟใต้ยุคยิ่งลักษณ์ 

อดีตหัวหน้าพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้ ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์-นายกรัฐมนตรีน้องสาวนายทักษิณ เทียบเคียงการเดินเกม-เดิมหมากของนายทักษิณในช่วงการเจรจา “ดับไฟใต้”

 

ก่อนที่จะมีการเจรจาสันติภาพชายแดนใต้ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างเป็นทางการ  มี 3 รูปแบบ 

  • รูปแบบที่หนึ่ง คือ เป็นทางการ มีกระทรวงต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานความมั่นคง เป็นเจ้าภาพ
  • รูปแบบที่สอง คือ กึ่งทางการ หน่วยงานราชการรับรู้ให้ เอเย่นต์-แหล่งข่าวไปพูดคุย แต่อยู่ในกรอบ-วิถีที่ทางราชการควบคุม 
  • รูปแบบที่สาม คือ ไม่เป็นทางการ เอกชน-ภาคประชาสังคม ไปพูดคุยเพื่อประโยชน์ประเทศและนำข้อมูลส่งให้ทางการ 

“รูปแบบ ไม่เป็นทางการ เหมือนที่คุณทักษิณดำเนินการเรื่องพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นอยู่นอกประเทศ ได้ไปคุยกับท่านนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซียขณะนั้น โดยมาเลเซียเห็นด้วยที่จะช่วยแก้ปัญหาและยินดีที่จะเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ให้”พล.ท.ภราดรเล่าเบื้องหลังเก้าอี้หัวโต๊ะเจรจาดับไฟใต้อย่างเป็นทางการ

จาก "ผู้อำนวยความสะดวก" ถลำลึก "ตัวกลาง"

การเคลื่อนไหวของนายทักษิณ "แตกต่าง" จากกรณีเจรจาสันติภาพชายแดนใต้กับการเสนอตัวเป็น "คนกลาง" ท่ามกลางเขม่าและควันปืนในสมรภูมิสู้รบระหว่างทหารรัฐบาลเมียนมากับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เพราะ “องค์ประกอบ” คนที่มีส่วนได้-ส่วนเสียแตกต่างกัน 

กรณีสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชัดเจนตรงที่มีมาเลเซียเป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” และเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นในประเทศไทย ผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียมีเพียงไทยกับผู้เห็นต่างและมาเลเซีย 

“แต่สถานการณ์ในเมียนมา พื้นที่ปฏิบัติการเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าคุณทักษิณจะมีบทบาท เป็นได้เพียงผู้อำนวยความสะดวก แต่คุณทักษิณลึกไปมากกว่าผู้อำนวยความสะดวกจะไปเป็น mediator คนกลางเลย ซึ่งเข้มข้นกว่าผู้อำนวยความสะดวก

ผู้อำนวยความสะดวก เพียงแต่เป็นผู้ให้มาพบกัน จัดน้ำชา กาแฟ ให้พบ สถานที่ อำนวยความปลอดภัย แต่ถ้าเป็นคนกลางเมื่อไหร่ มีสภาพบังคับวิถีการพูดคุยได้ด้วย”

“ถ้าการพูดคุยไม่ลงตัว คนกลางสามารถชี้ทิศทางได้ เพราะคนกลางจะต้องถูกยอมรับจากคู่กรณีทั้งหมดให้เป็นคนกลาง คุณทักษิณถึงต้องการให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เซ็นรับรองให้เป็นคนกลาง และต่อมาก็จะให้รัฐบาลเมียนมาให้เป็นตัวกลาง”

เมื่อผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียมีจำนวนมาก และผลประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ทั้งที่มีและไม่มีชายแดนติดกับเมียนมาทั้งทางภูมิศาสตร์ทางกายภาพและทางเกมอำนาจ จึงไม่ง่ายที่นายทักษิณจะเกิดความลงตัวให้เป็น “คนกลาง”

ปิดประตูเป็น “คนกลาง” 

การที่ทักษิณวางบทบาทเป็นมากกว่า “ผู้อำนวยความสะดวก” นอกจากเป็นไฟต์บังคับ เพราะ สปป.ลาวมีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ในฐานะ “ทูตพิเศษ” อยู่แล้ว แต่อะไรที่ทำให้ทักษิณมั่นใจว่ามีพาวเวอร์มากพอที่จะเป็น “คนกลาง”

“เป็นคาเร็กเตอร์ของคุณทักษิณ เป็นคาเร็กเตอร์ของคนที่มีความเชื่อมั่นว่า ตัวเองมีบารมี เพราะในอดีตคุณทักษิณมีความสัมพันธ์กับผู้นำตานฉ่วย หม่องเอ แม้กระทั่งมินอ่องหล่าย จึงเชื่อมั่นในบารมีเดิม”

เมื่อผู้มีอำนาจในทำเนียบ-รัฐบาลไทย ทั้งนายกรัฐมนตรีเองและกระทรวงต่างประเทศออกอาการถีบ-ถอย โยนเผือกร้อน ว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของนายทักษิณ รัฐบาลกรุงเทพฯไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง บทบาทการเป็น "หัวหอก" ของอาเซียนในการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมาก็ยังถือว่าเสมอตัว  

“ถ้ารัฐบาลรับว่าคุณทักษิณไปแบบกึ่งทางการ เจ๊งเลยนะ เพราะตอนนี้รัฐบาลเมียนมาร์และกลุ่มชาติพันธุ์ไม่เอา แต่ไทยยังมีความชอบธรรมในประชาคมอาเซียนที่จะอาสาขึ้นมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่ต้องไม่ยกระดับเป็นคนกลาง”อดีตเลขาสมช.- อดีตหัวหน้าพูดคุยดับไฟใต้ทิ้งท้าย