พลิกปูม ครม.เศรษฐกิจ 5 รัฐบาล 5 นายกรัฐมนตรี ปิดจุดอ่อนการเมือง-ความมั่นคง

23 พ.ค. 2567 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ค. 2567 | 01:10 น.

พลิกปูม "ครม.เศรษฐกิจ" 5 รัฐบาล 5 นายกรัฐมนตรีทหาร-พลเรือน ระดมนักเศรษฐศาสตร์-กูรูเศรษฐกิจ ล้อมวงทำเนียบแก้ปัญหาปากท้อง คลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-ดึงดูดนักลงทุน รับมือสงครามการค้า-geo politics ปิดจุดอ่อนปัญหาการเมืองรุมเร้า-ความมั่นคงไม่น่าไว้วางใจ

"เศรษฐา ทวีสิน" เก้าอี้ร้อนขึ้นมาทันที ภายหลัง “สภาพัฒน์” ประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1 ปี 67 ขยายตัวต่ำเพียง 1.5 % จนต้องเรียกประชุม “ครม.เศรษฐกิจ” ด่วนข้ามทวีป ในวันที่ 27 พฤษภาคม 67 และให้ถือเป็นกิจวัตรประจำวัน “ทุกวันจันทร์” เวลา 16.00 น. 

พลิกปูม ครม.เศรษฐกิจ 5 รัฐบาล 5 นายกรัฐมนตรี ปิดจุดอ่อนการเมือง-ความมั่นคง

"จะมีการเรียกรัฐมนตรีกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามา ไม่ใช่เรียกใครมาต่อว่า แต่เพื่อมาระดมสมอง เสนอความคิดเห็น ไล่ตั้งแต่นโยบาย การผันเงินออกไปของกรมบัญชีกลาง เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ ต้องมานั่งแก้ไขปัญหากัน เพราะจีดีพีโต 1.5 % ต่ำที่สุดในอาเซียน เวียดนามโต 11 % น่ากลัว อะไรทำได้ต้องทำก่อน ถ้าไม่มีภาคบริการ ธุรกิจท่องเที่ยว เราจะตกเป็นประเทศที่เศรษฐกิจถอดถอยทางเทคนิคแล้ว น่าเป็นห่วง"นายเศรษฐากล่าว 

รัฐบาลทหาร-ปิดจุดอ่อนเศรษฐกิจ 

ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการประชุม “ครม.เศรษฐกิจ” ย้อนกลับไปในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การประชุมครม.เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง “คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ” โดยมี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นประธาน 

ขณะที่รองประธาน ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีเศรษฐกิจ 3 คน ได้แก่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ "รองนายกฯเศรษฐกิจ" นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล 

กรรมการ-รัฐมนตรี 11 กระทรวง ได้แก่ คลัง ท่องเที่ยวและกีฬา อว. เกษตรและสหกรณ์ คมนาคม ดีอีเอส ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลังงาน มหาดไทย แรงงาน อุตสาหกรรม มี “เลขาธิการสภาพัฒน์” เป็นกรรมการ-ผู้ช่วยเลขานุการ

พลิกปูม ครม.เศรษฐกิจ 5 รัฐบาล 5 นายกรัฐมนตรี ปิดจุดอ่อนการเมือง-ความมั่นคง

อำนาจ-หน้าที่ พิจารณากลั่นกรองเรื่องสำคัญในปัญหาเกี่ยวพันหรือมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ตลอดจนประเมิน วิเคราะห์ และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางตัดสินใจเชิงรุกในประเด็นหรือนโยบาย ก่อนนำเสนอครม.พิจารณา

ถือเป็นการ "ปิดจุดอ่อน" ของ "ผู้นำทหาร" ที่ฝ่ายตรงข้ามมักด้อยค่าว่า "บริหารเศรษฐกิจไม่เก่ง" 

โดยมีการประชุม “ครม.เศรษฐกิจ” ครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2562 เวลา 09.30 น. ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล แต่หลังจากนั้นได้กำหนดให้จัดประชุมในวันจันทร์ช่วงเช้า หรือตามที่ประธานกำหนด จึง "ไม่ต่อเนื่อง"  

การประชุม “ครม.เศรษฐกิจนัดแรก” มีวาระพิจารณา เช่น สถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจไทย สถานะทางงบประมาณของรัฐบาล และกรอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 62-63 

โดยประเด็นอภิปรายในวันนั้น เช่น การแก้ปัญหาการย้ายฐานการผลิต การสนับสนุนการส่งออก การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การแก้ปัญหาราคายางพารา การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและเงินสะสมของท้องถิ่น (อปท.) ส่งเสริม SMEs

ไฮไลต์อยู่ที่ “แพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ” และ “มาตรการส่งเสริมการลงทุน” ที่ออกมาแบบ “ฟาสต์แทรค”     

ยุครัฐบาลนายกฯ น้องทักษิณ  

ในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยสมัยแรก ที่มี "นายกฯปู" ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ใช้เวลาเพียง 49 วัน ข้ามรั้วทำเนียบมานั่ง "เก้าอี้ประมุขตึกไทยคู่ฟ้า" โดยมี "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" เป็น "รองนายกฯเศรษฐกิจ" ได้มีการประชุม “ครม.เศรษฐกิจ” ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2555 ที่ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

เป็นการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าและราคาน้ำมัน และกำหนดมาตรการเพื่อกำกับดูแลราคาสินค้าและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย 

โดยมติ "ครม.เศรษฐกิจ" ได้มอบหมายให้กระทรวงเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ปัญหา เช่น มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำรายการสินค้าเฝ้าระวัง เพื่อให้มีมาตรการรองรับได้ทันท่วงที ศึกษาโครงสร้างต้นทุนราคาสินค้าที่เป็นธรรม กระจายสินค้า “ธงฟ้า” ราคาประหยัดให้ประชาชนอย่างทั่วถึง ขอความร่วมมือภาคเอกชนชะลอการขึ้นราคาสินค้าจำเป็น 

พลิกปูม ครม.เศรษฐกิจ 5 รัฐบาล 5 นายกรัฐมนตรี ปิดจุดอ่อนการเมือง-ความมั่นคง

มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ศึกษาสินค้าเกษตรเป็นรายสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญ ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมระบายวัตถุดิบทางการเกษตรล้นตลาด จับคู่สินค้าเกษตรกับโรงงานที่ต้องการวัตถุดิบ 

มอบหมายกระทรวงแรงงานและอุตสาหกรรมเร่งรัดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการจากต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโครงการฝึกอบรมเพิ่มทักษะให้แก่ผู้ประกอบการและแรงงาน 

มอบหมายกระทรวงการคลังเร่งรัดพิจารณา-ศึกษาโครงสร้างภาษีทั้งระบบ โดยเฉพาะโครงสร้างภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ขยายเวลามาตรการลดดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซล  

แม้รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะชนะเลือกตั้ง กวาดเก้าอี้ สส.เข้าสภาทะลุ 250 ที่นั่ง แต่ต้องมา "สะดุดขาตัวเอง" จากการผลักดันกฎหมาย "นิรโทษกรรมสุดซอย" รวมถึงโครงการรับจำนำข้าว จนเป็น "เงื่อนไข" ให้เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 57 

รัฐบาลอภิสิทธิ์ จั๊มสายรัฐ-เอกชน 

ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการตั้ง "คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ" หรือ "รศก." เพื่อทำหน้าที่เร่งรัดติดตาม แก้ไขปัญหา ลดขั้นตอนปฏิบัติ และกำหนดมาตรการและโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะเร่งด่วน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 

เมื่อคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจมีมติเป็นประการใดให้นำเสนอนายกรัฐมนตรีอนุมัติและบรรจุในระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ หากคณะรัฐมนตรีไม่มีข้อทักท้วงหรือมีความเห็นเป็นประการอื่น ให้มติคณะรัฐมนตรีเป็นไปตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจนั้น  

ยกเว้นเฉพาะกรณีที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาจึงจะบรรจุในระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป

พลิกปูม ครม.เศรษฐกิจ 5 รัฐบาล 5 นายกรัฐมนตรี ปิดจุดอ่อนการเมือง-ความมั่นคง

แนวทางการทำงานของ รศก. กำหนดประชุมเป็นประจำ “ทุกวันพุธ” โดยหน่วยงานจะเสนอวาระให้ รศก.พิจารณาภายในวันจันทร์เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรีอนุมัติบรรจุวาระการประชุม โดยวาระการประชุมหลัก ประกอบด้วย

  • รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจ การเงินและการคลัง โดยธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และ “สภาพัฒน์” 
  • รายงงานความก้าวหน้าของการดำเนินมาตรการและโครงการสำคัญตามนโยบายรัฐบาล แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่างด่วน
  • เรื่องเกี่ยวกับการพิจารณาทบทวนและการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนปฏิบัติ กฎระเบียบต่าง ๆ 

การพิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบของ รศก.ที่เสนอครม.ให้ถือปฏิบัติว่า กระทรวงที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆ ได้ให้ความเห็นในที่ประชุมรศก.แล้ว โดยไม่ต้องเวียนขอความเห็นจากรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เป็นกรรมการในรศก.อีก   

“รศก.นัดแรก” ประชุมเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2552 เวลา 10.00 น.-12.00 น. ที่ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู้ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมี “วาระ” พิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการทำงานของคณะกรรมการ รศก. กรอบแนวทางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน และกรอบหลักการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 

นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ “กรอ.” โดยใช้องค์ประกอบ รศก. ประชุมร่วมกับภาคเอกชน ทุก 2-3 สัปดาห์ 

ทว่า "รัฐบาลอภิสิทธิ์" ต้องเผชิญกับวิบากกรรมทางการเมืองอย่างหนัก จากการชุมนุมของ "กลุ่มคนเสื้อแดง" จนต้องเผชิญกับศึกหนักทั้งเศรษฐกิจและการเมือง  

รัฐบาลขิงแก่ เผ็ด+สดใหม่

รัฐบาลขิงแก่-พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นยุคที่ "ครม.เศรษฐกิจ" ไม่มีนายกรัฐมนตรี “นั่งหัวโต๊ะ” แต่เป็น “โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ภายใต้ชื่อ “คณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม” หรือ “คศร.” 

ขณะที่กรรมการ ประกอบด้วย “รัฐมนตรีเศรษฐกิจกระทรวงหลัก” ทั้งคลัง พลังงาน พาณิชย์ แรงงาน และหน่วยงานราชการ เช่น สำนักงบประมาณ เลขาธิการกฤษฎีกา “ผู้ว่าแบงก์ชาติ” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เลขาธิการบีโอไอ 

นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชน อย่างประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย 

รวมทั้ง “นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง” ที่เป็นกรรมการและยังโลดเล่นอยู่ในแวดวงเศรษฐกิจ-วิชาการ ในปัจจุบัน คือ "ศุภวุฒิ สายเชื้อ-สมชัย จิตสุชน" สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ สมภพ มานะรังสรรค์ ธนวรรธน์ พลวิชัย 

โดยมีอำนาจ-หน้าที่ ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจ และปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากภายนอกและภายในประเทศ เพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรง 

รัฐบาลน้าชาติ-ที่ปรึกษาบ้านพิษฯ แบ็กอัพ

ยุคเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า "รัฐบาลน้าชาติ" พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ บริหารเศรษฐกิจ โดยมี “ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” เป็น “มันสมอง” ด้านต่าง ๆ ทั้ง ต่างประเทศ กฎหมาย  โดยมี “พันศักดิ์ วิญญรัตน์” เป็นประธานคณะที่ปรึกษา และมี “ณรงค์ชัย อัครเศรณี” เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ 

เมื่อการเมืองไทยยัง "ไม่นิ่ง" ความมั่นคงยัง "ไม่น่าไว้วางใจ" รัฐบาลทุกยุค-ทุกสมัยจึงต้องอาศัยกระสุนทางเศรษฐกิจเป็น "ตัวชูโรง"