ย้อนรอยศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 40 สว. สอย เศรษฐา พ้นเก้าอี้รัฐมนตรี

23 พ.ค. 2567 | 05:07 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ค. 2567 | 05:30 น.

ย้อนรอยศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 6 ต่อ 3 รับคำร้อง สอย เศรษฐา พ้น เก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่ไม่สั่งให้หยุดปฏฎิบัติหน้าที่ พิชิต รอด ศาลไม่รับคำร้อง

รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (23 พ.ค.67) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 รับคำร้อง ผู้ร้องที่ 1 แต่มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้ผู้ร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากกรณีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 40 คน ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170  วรรคหนึ่ง (4) เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (4) และ (5) และอาศัยมาตรา 82 วรรคสอง   

 

เปิดคำร้อง 40 สว.สอย เศรษฐา

สำหรับคำร้องของ 40 สว.ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และนายพิชิต รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่ 

ด้วยปรากฏว่า นายเศรษฐา ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้ง นายพิชิต ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยผู้ถูกร้องที่ 1 ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (4) และ (5) ที่บัญญัติว่า 
มาตรา 160 รัฐมนตรีต้อง

(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

พิชิต พลีชีพ ไขก๊อก 

อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวมีข้อเท็จริงเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมเกิดขึ้น เนื่องจากนายพิชิตได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พ.ค.67 โดยระบุเหตุผลไว้ในหนังสือขอลาออกตอนหนึ่งว่า

แต่เมื่อมีการยื่นคำร้องเกี่ยวกับข้าพเจ้า ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าได้ตรวจสอบและเชื่อมั่นโดยสุจริตแล้วว่า ข้าพเจ้ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายทุกประการก็ตาม แต่เรื่องนี้ได้มีการพาดพิงไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี หัวหน้าผู้บริหารราชการแผ่นดินต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีที่มีความจำเป็นต้องเดินหน้าด้วยความต่อเนื่อง ข้าพเจ้าจึงไม่ยึดติดกับตำแหน่ง ในลักษณะยึดถือประโยชน์ส่วนตนยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนรวม

“ข้าพเจ้า ขอลาออกจากการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” เพื่อให้นายกรัฐมนตรีเดินหน้าบริหารประเทศต่อไปได้ โดยให้มีผลนับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป” 

ทว่า การลาออกของนายพิชิตยังไม่มีผลในทันทีให้ศาลรัฐธรรมนูญจำหน่ายคดี-ไม่รับคำร้อง เนื่องจาก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 51 ระบุว่า คำร้องที่ได้ยื่นต่อศาลไว้แล้ว ก่อนศาลจะมีคำวินิจฉัยหรือมีคำสั่ง ถ้า "ผู้ร้องตาย" หรือมีการ "ขอถอนคำร้อง" หรือ "ไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีนั้น" ศาลจะพิจารณาสั่ง "จำหน่ายคดี" นั้นก็ได้ เว้นแต่การพิจารณาคดีต่อไปจะ "เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ"