คดีถอดถอนนายกฯ ก่อวิกฤติความเชื่อมั่นรัฐบาล

23 พ.ค. 2567 | 23:30 น.

ผลพวงจากมติศาลรธน.ที่รับคำร้องถอดถอน “นายกฯ เศรษฐา” ไว้วินิจฉัย แม้ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่“ภาคเอกชน”มองว่ากระทบต่อความเชื่อมั่นรัฐบาล ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวล รอดูสถานการณ์การเมือง

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 48 คน ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ 

จากกรณี นายเศรษฐา ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก นายพิชิต เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่ง จำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

มติ 6:3 รับถอดถอนนายกฯ

ศาลฯ พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 7(4) และให้ นายกรัฐมนตรี ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 54 (ประมาณวันที่ 7 มิ.ย. 67) 

สำหรับเสียงข้างมาก 6 เสียง ประกอบด้วย นายปัญญา อุดชาชนล, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุฬห์ แสงเทียน, นายจิรนิติ หะวานนท์, นายนภดล เทพพิทักษ์ และ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
ส่วนเสียงข้างน้อย 3 เสียงได้แก่ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายอุดม รัฐอมฤต และ นายสุเมธ รอยกุลเจริญ 

มติ 5:4 ไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่

ศาลรัฐธรรมนูญยังได้พิจารณากรณีขอให้ นายเศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง 

ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ในชั้นนี้ ศาลมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่  

โดยตุลาการเสียงข้างมาก 5 เสียง ประกอบด้วย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายนภดล เทพพิทักษ์, นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์, นายอุดม รัฐอมฤต และ นายสุเมธ  รอยกุลเจริญ

ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อย 4 เสียง ได้แก่ นายปัญญา อุดชาชน,นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุฬห์ แสงเทียน และ นายจิรนิติ หะวานนท์

มติ 8:1 ไม่รับคำร้อง“พิชิต” 

ส่วนกรณีของ นายพิชิต ได้มีคำร้องของ นายพิชิต ลงวันที่ 23 พ.ค. 2567 แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2567 นายพิชิต ได้ลาออกจากตำแหน่งรมต.ประจำสำนักนายกฯ แล้ว 

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของ นายพิชิต สิ้นสุดลงเฉพาะตัว กรณีไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีต่อไป ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 มีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของ นายพิชิต ไว้พิจารณาวินิจฉัย โดย 1 เสียงข้างน้อยได้แก่ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม

                               คดีถอดถอนนายกฯ ก่อวิกฤติความเชื่อมั่นรัฐบาล

ส.อ.ท.ชี้กระทบเชื่อมั่น

ผลจากการที่ศาลฯ มีมติรับคำร้องไว้วินิจฉัยถอดถอนนายกฯ ดังกล่าว นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การที่ศาลรับคำร้อง แม้ว่าจะไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ต้องถือว่ามีความเสี่ยงเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อไปถึงความเชื่อมั่น  

เพราะก่อนหน้าที่จะถึงวันที่ศาลรับคำร้อง 40 สว.วันนี้ แค่มีกระแสข่าวออกมา ก็ทำให้นักลงทุนทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งทูตของบางประเทศ ก็มีการสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ซึ่ง ณ เวลานั้นก็ไม่มีผู้ใดที่จะสามารถตอบได้อย่างชัดเจน

 "วันนี้ความชัดเจนเกิดขึ้นเมื่อศาลรับคำร้อง ยิ่งทำให้นักลงทุนเกิดความกังวล ต่างโทรเข้ามาสอบถามเป็นจำนวนมาก โดยแสดงให้เห็นถึงความกังวล ซึ่งย่อมมีผลต่อความเชื่อมั่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าสถานการณ์ในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ต้องลุ้นจนกว่าศาลฯจะวินิจฉัยแล้วเสร็จ ซึ่งช่วงเวลานี้ระหว่างไต่สวนก็จะมีความเสี่ยงหมด"

"อะไรก็ตามที่นายกฯ เคยดำเนินการไว้ ทั้งคำเชิญชวนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนจะเกิดการสะดุดได้ หรือ อาจทำให้ต้องรอดูสถานการณ์ที่ชัดเจนก่อน" 

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ทุกฝ่ายต้องเคารพในคำสั่งของศาล ซึ่งได้มีการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว และในประเด็นคำสั่งศาลที่ไม่ได้สั่งให้ท่านนายกฯ หยุดปฎิบัติหน้าที่ มองว่าสิ่งนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่จะทำให้นโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนได้ต่อเนื่อง ไม่หยุดชะงัก

นักลงทุนรอดูท่าทีการเมือง

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยก.ก.ผจญ.ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า จะมีผลต่อตลาดทุน และระบบเศรษฐกิจเป็นเวลาชั่วคราว และระยะสั้น เท่านั้น ส่วนมากจะรอดูท่าทีของสถานการณ์การเมืองก่อน

ทั้งนี้ หากเป็นนักลงทุนขาประจำของไทยมาเป็นเวลานาน ก็จะเข้าใจตลาดของไทยดี ว่าความกังวลทางการเมืองจะส่งกระทบได้มากน้อยเพียงใด เพราะกลุ่มขาประจำเขาเข้าใจการผ่านการเแลี่ยนแปลงทางการเมือง ทั้ง ญี่ปุ่น จีน 

“สรุปคือ ผลในระยะสั้น ไม่ว่าจะทำให้การตัดสินของนักลงทุนเป็นอย่างไร ก็ไม่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในะยะยาว เพราะส่วนมากจะดูนโยบาย การลงทุนเป็นหลัก”

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนโยบาย และสภาวะอื่นๆ น่าจะมีส่วนสำคัญกับระบบเศรษฐกิจมากกว่า อาจจะเป็นส่วนหนึ่งในความเสี่ยงทางการเมืองของไทย แต่ไม่ใช่นัยยะสำคัญ ส่วนใหญ่นักลงทุนจะดูไปถึงโครงสร้างพื้นฐาน แผนเศรษฐกิจ นโยบายต่าง ๆ ภาวะเศรษฐกิจจีน รวมถึงสงครามการค้า น่ากังวลมากกว่า ไทยไม่น่าหยุดนิ่ง เพราะดึงดูดต่างชาติ

สถานภาพนายกฯไม่แน่นอน

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า แสดงความเห็นว่า ผลกระทบมีบ้างแต่ไม่มาก เพราะศาลท่านไม่ได้สั่งให้นายกฯ หยุดปฎิบัติหน้าที่ ถือว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานภาพนายกฯ เพราะถ้าศาลวินิจฉัยออกมาเป็นโทษกับนายกฯ ก็ต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ  

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ อาจไม่ถึงเวลาเปลี่ยนตัวนายกฯ เพียงแต่รอบนี้ มีเรื่องทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง หรือ มีเรื่องดีลกันไว้ก่อนหน้านี้ ประกอบกับเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากเดิมที่การเลือกนายกฯ เลือกโดยรัฐสภา มีสส.และ สว.เลือก  แต่สว.เพิ่งครบวาระไป ก็แปลว่าเงื่อนไข 5 ปี จบไปด้วย แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงตัวนายกฯ ต้องเลือกที่สภาผู้แทนราษฎรอย่างเดียว

“ความน่ากังวลของเรื่องการดีลกันมันจะคนละขั้วความคิดทางการเมือง จึงเป็นห่วงว่าอำนาจต่อรองของพรรคเพื่อไทย ที่มีต่ออีกกลุ่มที่ดีลกันจะมากเกินไปหรือไม่ พรรคเพื่อไทยอาจสร้างอำนาจต่อรองเพิ่ม ถ้ากลุ่มอำนาจเดิมคุยกันไม่รู้เรื่อง โดยอาจจะไปจับมือกับพรรคก้าวไกล เพราะพรรคเพื่อไทย และ ก้าวไกล รวมกันเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาอยู่แล้ว” ดร.สติธร ระบุ