วันที่ 6 มิถุนายน 2567 นายสรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของงบประมาณประจำปี 2567 ที่อยู่ระหว่างการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 ได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 3.48 ล้านล้านบาท
แต่งบประมาณดังกล่าวเข้าสู่ระบบงบประมาณช้ากว่ากำหนด เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ช้า ทำให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ ต้องใช้งบประมาณ 2566 ไปพลางก่อน ส่งผลให้บรรดาหน่วยงานราชการที่ต้องดำเนินการเรื่องการลงทุนใหม่ ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ภายใต้การลงทุนภาครัฐต้องสะดุดลง และส่งผลโดยตรงไปยังภาคประชาชนและภาคเอกชนที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกับภาครัฐได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน
ดังจะเห็นได้จาก บริษัทรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ ได้รับผลกระทบมาก่อนหน้านี้ ซึ่งมาจนถึงวันนี้เหลือเวลาเพียง 4 เดือนสำหรับการใช้จ่ายงบประมาณ และงบประมาณปี 2568 ก็จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ช่วงวันที่ 19-21 มิถุนายน 2567 แต่สำนักงบประมาณก็สามารถจัดสรรงบประมาณ 2567 ได้ถึง 3.457 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 99.37% และเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้วประมาณ 50.6%
นายสรรเพชญ ได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ภายใต้งบประมาณที่ล่าช้ากว่ากำหนด เมื่อครั้งตอนพิจารณางบประมาณ ตนหวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจในเรื่องของการเร่งรัดการเบิกจ่าย เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า แต่มาวันนี้ตนรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมาก
เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เหลือเวลาอีกเพียง 4 เดือนเศษ แต่รัฐบาลกลับเบิกจ่ายได้เพียง 50.6% แม้ว่า ครม. จะมีมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการลดระยะเวลาการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ผลการเบิกจ่ายยังไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้เรื่องนี้เป็นที่น่ากังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง
ประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวอีก 3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่เพิ่มขึ้นถึง 102.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนขนาดใหญ่ของ กฟผ. ทำให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลกลางกับรัฐวิสาหกิจที่มีการใช้จ่ายภาครัฐที่แตกต่างกัน
“สิ่งที่ผมรู้สึกกังวลคือ ยิ่งรัฐบาลเบิกจ่ายช้าเท่าใด งบประมาณที่จะกระจายเข้าสู่ระบบก็จะช้าตามไปด้วย สุดท้ายแล้วปัญหาก็จะตกไปยังประชาชนที่ยังคงรอคอยการจ้างงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานก่อสร้างต่าง ๆ อีกทั้งยังส่งผลไปยังร้านค้ารายย่อยที่อยู่โดยรอบบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ในทางกลับกัน หากรัฐบาลเร่งรัดการเบิกจ่ายมากกว่านี้ และกระตุ้นการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ให้ทันช่วงเวลา ก็จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนเป็นอย่างมาก และงบประมาณที่ตั้งไว้ ก็จะไม่ถูกพับตกไป อันจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง”