มติ ครม.วันนี้ 13 สิงหาคม 2567 ตั้ง “ศุภชัย เจียรวนนท์” นั่งประธานบอร์ด สมศ.

13 ส.ค. 2567 | 07:59 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ส.ค. 2567 | 08:51 น.

มติ ครม.วันนี้ 13 สิงหาคม 2567 แต่งตั้ง “ศุภชัย เจียรวนนท์” บิ๊กซีพี นั่งตำแหน่งประธานบอร์ด สมศ. รวม 7 คน ตามที่ กระทรวงศึกษาธิการ นำเสนอ

วันนี้ 13 สิงหาคม 2567   พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ  หรือ ศธ. เสนอ แต่งตั้งประธานกรรมการและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รวม 7 ราย ดังนี้

1.นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ สมศ.

2.นายทศพร ศิริสัมพันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

3.นายสุภัทร จำปาทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

4.นายพิริยะ ผลพิรุฬห์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

5.นายพิศณุ ศรีผล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

6.นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

7.นายสุรินทร์ คำฝอย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ 

ทั้งนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งระดับสูงหลายตำแหน่ง เช่น ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด, ประธานกรรมการ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รองประธานกรรมการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และเคยดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา

 

บทบาทและหน้าที่ สมศ. มีอำนาจหน้าที่หลัก ดังนี้

  • พัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอก กำหนดกรอบแนวทางและวิธีการประเมินคุณภาพภายนอกที่มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับระบบการประกันคุณภาพของสถานศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด
  • พัฒนามาตรฐานและเกณฑ์สำหรับการประเมินคุณภาพภายนอก
  • ให้การรับรองผู้ประเมินภายนอก
  • กำกับดูแลและกำหนดมาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอกที่ดำเนินการโดยผู้ประเมินภายนอก รวมทั้งให้การรับรองมาตรฐาน ทั้งนี้ ในกรณีจำเป็นหรือเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอก สำนักงานอาจดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอกเองก็ได้
  • พัฒนาและฝึกอบรมผู้ประเมินภายนอก จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรม และสนับสนุนให้องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพหรือวิชาการ เข้ามามีส่วนร่วมในการฝึกอบรมผู้ประเมินภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ
  • เสนอรายงานการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาประจำปีต่อคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี รัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่ควบคุมกำกับหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการศึกษา และสำนักงบประมาณ เพื่อประกอบการพิจารณาในการกำหนดนโยบายทางการศึกษา และการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา รวมทั้งเผยแพร่รายงานดังกล่าวต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน.