ส่องประวัติ "เอกนัฏ พร้อมพันธุ์" จากอดีต กปปส. สู่ "รมว.อุตสาหกรรม" ป้ายแดง

04 ก.ย. 2567 | 06:37 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ย. 2567 | 06:37 น.

ส่องประวัติ "เอกนัฏ พร้อมพันธุ์" จากอดีต กปปส. สู่ "รมว.อุตสาหกรรม" ป้ายแดง ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลไว้ให้หมดแล้ว หลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ครม.อิ๊งค์ 1

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี รัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (ครม.อิ๊งค์ 1) โดยหนึ่งในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีการเปลี่ยนแปลงก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

โดยได้มีการปรับเปลี่ยนเป็น "นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์" เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ จากเดิมที่เจ้าของเก้าอี้คือ "นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล" 

สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้แจ้งกำหนดการสำคัญแก่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ประกอบด้วย  วันพฤหัสบดีที่ 5 ก.ย. 67 เชิญคณะรัฐมนตรีตรวจคัดกรอง COVID-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล
 

และจากนั้นวันที่ 6 ก.ย. 67 เวลา 14.00 น. ถ่ายรูปทำบัตรประจำตัวที่ตึกสันติไมตรี และ 17.00 น. พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปทำความรู้จักกับว่าที่รมว.อุตสาหกรรม คนใหม่ป้ายแดง โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

ประวัติเอกนัฏ

  • ชื่อเล่น : ขิง 
  • วันเกิด : 12 มกราคม พ.ศ. 2529 เป็นลูกชายคนที่ 2 
  • บิดา : นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ 
  • มารดา : นางศรีสกุล พร้อมพันธุ์ 
  • พี่ชาย : นายสิทธิพัฒน์ เตชะไพบูลย์ (โขง)
  • น้องสาว : นางสาวธีราภา พร้อมพันธุ์ (เข็ม)

การศึกษา

  • ประถมศึกษา โรงเรียนเซนต์คาเบรียล กรุงเทพมหานคร
  • มัธยมศึกษา Charterhouse School (นักเรียนทุนอันดับที่หนึ่ง) , Godalming , Surrey สหราชอาณาจักร
  • ปริญญาตรี ควบปริญญาโทใน 2 สาขา EEM (Engineering, Economics and Management)จาก มหาลัยออกซฟอร์ด University of Oxford สหราชอาณาจักร
     

เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการเป็นเลขานุการส่วนตัวของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเป็นบิดาบุญธรรม โดยในเหตุการณ์การก่อความไม่สงบของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 นายเอกนัฏได้อยู่ในเหตุการณ์และเคียงข้างนายสุเทพตลอด โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้บุกเข้าไปในโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช ที่พัทยา

ในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เอกนัฏได้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร เขต 29 (เขตทวีวัฒนา เขตหนองแขม (เฉพาะแขวงหนองค้างพลู) สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นเขตเดียวกันกับ นายวัชระ เพชรทอง ส.ส. เดิมของพรรค ที่ต้องเปลี่ยนไปลงแบบระบบบัญชีรายชื่อแทน และได้รับเลือกตั้งไปด้วยคะแนน 37,932 คะแนน โดยถือเป็น ส.ส.ที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับเลือกตั้งมาในครั้งนี้ด้วย ด้วยอายุเพียง 25 ปี และยังเป็น ส.ส. ชายคนแรกในประวัติศาสตร์ที่เกิดหลังฉลองกรุงฯ 200 ปี

ในช่วงเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี พ.ศ. 2554 ได้ลงพื้นที่ดูเรื่องน้ำท่วมในเขตหนองแขม และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างใกล้ชิดในฐานะที่เป็น ส.ส. พื้นที่ อีกทั้งยังได้ช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่อย่างแข็งขัน จนได้รับคำชื่นชมอย่างมาก 

กระทั่งวันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565 เอกนัฏได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์โดยให้มีผลทันที โดยมีกระแสข่าวว่า เอกนัฏเตรียมย้ายไปสังกัด พรรครวมไทยสร้างชาติ

ในการประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2565 ของพรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2565 เอกนัฏได้รับเลือกตั้งให้เป็นเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค

อย่างไรก็ดีในวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 เอกนัฏเป็นหนึ่งใน 9 ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกจากการเป็นสมาชิกและกรรมการบริหารพรรค เพื่อเข้าร่วมเป็นแกนนำ กปปส. โดยมีบทบาทเป็นโฆษกชี้แจงข่าวสารทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ศาลอาญาได้อนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส. รวม 43 คน รวมถึงเอกนัฏ ในข้อหากบฏและความผิดอื่น ๆ หลังจากนั้น เอกนัฏได้เข้าอุปสมบทที่วัดชลประทานรังสฤษฎ์ และจำพรรษาที่วัดป่าอัมพวัน จังหวัดชลบุรี เช่นเดียวกับแกนนำและแนวร่วมคนอื่น ๆ