วันนี้ (19 ต.ค. 67) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นต่อกรณีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งล่าสุดมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ว่า การลดดอกเบี้ยนี้มีประโยชน์สำคัญต่อทั้งประชาชนและธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก
แต่รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะการลดดอกเบี้ยนั้น จะช่วยลดภาระหนี้สินของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีสินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต
“การลดดอกเบี้ยทำให้ดอกเบี้ยจ่ายของประชาชนลดลง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ”
นอกจากนี้ สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก การลดดอกเบี้ย จะทำให้ต้นทุนทางการเงินของการกู้ยืมลดลง ทำให้ผู้ประกอบการสามารถขยายกิจการ หรือดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น
แต่สิ่งที่จะต้องติดตามต่อไป คือ บรรดาธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ จะมีการปรับลดเงินกู้ตามหรือไม่ เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ สวนทางกับดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงมากตามประเภทของการกู้
อย่างไรก็ตาม นายสรรเพชญ ชี้ว่า การลดดอกเบี้ยในระยะยาวอาจนำไปสู่ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน รัฐบาลจำเป็นต้องเฝ้าระวังปัญหาด้านหนี้สิน หากเกิดการกู้ยืมมากเกินไปจนเป็นหนี้เสีย (NPL) โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่อาจประสบปัญหาในการชำระหนี้หากสถานการณ์เศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
นอกจากนี้ นายสรรเพชญ ยังเน้นว่า รัฐบาลควรมีมาตรการรองรับ และนโยบายคุมเข้มเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว
นายสรรเพชญ กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยถือ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดต้นทุนการกู้ยืม และช่วยกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศได้ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยังมีความหวังว่าจะมีการประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทยให้เอื้อต่อบรรยากาศในการลงทุนให้ดีกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุน SMEs ให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลดดอกเบี้ย เช่น ขยายการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ถึงแม้อัตราดอกเบี้ยจะลดลง แต่ SMEs หลายราย ยังคงประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเนื่องจากขาดหลักประกัน หรือมีประวัติทางการเงินที่ไม่แข็งแรง
รัฐบาลควรส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านการจัดตั้งกองทุนพิเศษ หรือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ โดยอาจร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้มีโอกาสขยายกิจการและสร้างการจ้างงานเพิ่มขึ้น
การมีมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการลงทุน โดยใช้มาตรการภาษีเพื่อจูงใจการลงทุน เช่น การลดหย่อนภาษี สำหรับการลงทุนในเทคโนโลยี หรือ การปรับปรุงระบบการผลิต รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ SMEs ที่ขยายการจ้างงานหรือลงทุนในภาคการผลิต
“การใช้มาตรการเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นและกระจายการเติบโตไปยังทุกภาคส่วน มาตรการเสริมสภาพคล่อง
ในระยะสั้น รัฐบาลสามารถจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือเงินกู้ฉุกเฉินสำหรับ SMEs ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในระยะสั้นจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยมีเงื่อนไขที่ชัดเจนและตรงเป้าหมาย เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานต่อไปได้ในช่วงวิกฤต หรือช่วงที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่จากผลกระทบทางเศรษฐกิจ เป็นต้น”