KEY
POINTS
วันนี้ (22 พ.ย. 67) ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร กล่าวหาว่า นายทักษิณ ชินวัตร และ พรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า การพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนเพียงพอ ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์ระดับที่วิญญูชนคาดเห็นได้ว่า น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการกระทำนั้นจะต้องกำลังดำเนินอยู่ และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ
โดยศาลเห็นว่า ข้อกล่าวอ้างในประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่ 6 ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย
สำหรับประเด็นที่ 2 กรณีเอื้อประโยชน์เอ็มโอยูไทย-กัมพูชา ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติโดยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้ โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 7 คน เห็นว่า ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง
ส่วนเสียงข้างน้อย 2 คน เห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง
มติ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ออกมา ทำให้ “ทักษิณ” และ “พรรคเพื่อไทย” โล่งอกไปแล้วเปราะหนึ่ง
แต่ยังมีอีก 2 ด่าน ใน 2 องค์กรให้ลุ้นสำหรับ “ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย”
คดี“ทักษิณ”ครอบงำในมือ กกต.
กรณีแรก เกิดจากการยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย และอีก 5 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม เนื่องจากยินยอมให้ นายทักษิณ เข้าครอบงำ ชี้นำพรรค เป็นการกระทำความผิดต่อพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
โดยเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2567 นายแสวง บุญมี เลขาฯ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้มีความเห็นในเบื้องต้นว่า คำร้องยุบพรรค 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม มีมูล ฐานยินยอมให้ นายทักษิณ ครอบงำ ชี้นำ จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมารวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ภายใน 30 วัน หากไม่แล้วเสร็จสามารถขยายได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าสอบจะแล้วเสร็จ
กรณีนี้มีกลุ่มผู้ร้องรวม 4 ราย ได้แก่ บุคคลนิรนาม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบชาว 2006
โดยอ้างถึงพฤติการณ์ของนายทักษิณ ทั้งการที่แกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมไปร่วมประชุมกับนายทักษิณ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง
นอกจากนี้ ยังอ้างถึงการให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณ หลายครั้ง เกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล การชี้นำพรรคเพื่อไทยในการเลือกพรรคร่วมรัฐบาล การนำวิสัยทัศน์ที่นายทักษิณ ที่แสดงไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค. มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล
โดยผู้ร้องเห็นว่า เข้าข่ายขัดมาตรา 29 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการใดอันเป็นการควบคุมครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
การที่พรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยินยอมให้บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการอันเป็นการควบคุมครอบงำ ชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เข้าข่ายขัดมาตรา 28 หากการสอบสวน พบว่าเป็นความผิด จะเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอต่อ กกต.ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ตามมาตรา 92 (3) ของกฎหมายเดียวกันได้
คดี ม.112 ในมือศาลอาญา
นอกจาก ทักษิณ ชินวัตร จะเจอวิบากกรรมคดีทางการเมือง ที่เหลืออยู่ในมือ กกต. แล้ว ยังมีคดีความผิดเกี่ยวกับ มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่อยู่ในมือ “ศาลอาญา”
โดยเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2567 นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร จากกรณีให้สัมภาษณ์มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน กับสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ เมื่อปี 2558
ต่อมา วันที่ 18 มิ.ย. 2567 พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญาได้ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ต่อศาลอาญา และให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท พร้อมสั่งห้ามออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาต
ถัดมาวันที่ 19 ส.ค.2567 ศาลกำหนดนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ทั้งหมด 7 นัด โดยฝ่ายโจทก์ 10 ปาก นัดในวันที่ 1, 2 และ 3 ก.ค.2568 จำนวน 3 นัด
และนัดสืบพยานฝ่ายจำเลย 14 ปาก เริ่มในวันที่ 15, 16, 22 และ 23 ก.ค. 2568 จำนวน 4 นัด หลังจากนั้นจะจัดทำคำพิพากษาของศาล
คดีนี้ประมาณปลายปี 2568 ถึงจะรู้ผลคำพิพากษา โดย “ทักษิณ” มีโทษจำคุก เป็นเดิมพัน...
ยังต้องรอลุ้นกันไปยาวๆ สำหรับคดีของ “ทักษิณ และ “พรรคเพื่อไทย”