นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ภายหลังร่วมเป็นสักขีพยาน ลงนาม MOU การซื้อ-ขายสินค้าเกษตร ระหว่างผู้ประกอบการกับเกษตรกร ตามนโยายขับเคลื่อน "พังงาครัวอันดามัน" ที่สหกรณ์การเกษตรตะกั่วป่า จ.พังงา ต่อการที่มีหลายฝ่ายเรียกร้องว่า เมื่อมีกฎหมายลูก 2 ฉบับ บังคับใช้แล้ว ก็น่าจะถึงเวลาจัดให้มีการเลือกตั้งได้แล้วว่า
"ยังไงก็ยุบสภาหลัง 23 มี.ค. ไม่ได้ ถ้าจะยุบก็ต้องยุบก่อน จะยุบวันไหน จะมีหรือไม่ อันนี้นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ให้คำตอบ แต่ผมคิดว่าควรจะให้การเปิดอภิปรายตามมาตรา 152 มันได้ผ่านไปก่อน เพราะผมไม่อยากเห็นการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนการพิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็นการทำให้เกิดข้อครหาขึ้นโดยไม่จำเป็น ว่ารัฐบาลกลัวการอภิปราย"
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า "ผมคิดว่า เราต้องสู้ครับ เผชิญหน้ากับมัน แล้วก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ประชาธิปัตย์สนับสนุนให้เราเดินหน้าเข้าสู่การอภิปราย มาตรา 152 เพราะเราเป็นนักการเมืองในวิถีประชาธิปไตย ประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคการเมืองในวิถีประชาธิปไตย เพราะเราเป็นสถาบันทางการเมือง
ฉะนั้นในทุกเวทีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐสภาเราก็ไม่กลัวอะไร เพราะเรายืนอยู่บนความจริง และเรามั่นใจว่าเราทำสิ่งที่ดีให้กับบ้านเมือง ไม่ว่าจะมีคำถามอะไรเราตอบได้หมดทุกคำถาม ทุกสถานการณ์"
และยังเพิ่มเติมในส่วนกระทรวงที่พรรคประชาธิปัตย์ดูแลว่า รัฐมนตรีของพรรคทุกคนก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร พร้อมที่จะชี้แจงทุกคน และสนับสนุนให้มีการอภิปราย เรื่องนี้ก็มีทั้ง 2 ด้าน ซึ่งไม่ได้แปลว่าคนอภิปรายจะได้คะแนน หรือทำในสิ่งที่เป็นบวกได้เสมอไป บางครั้งคนชี้แจง หรือคนที่ถูกอภิปรายอาจจะบวกกว่าก็ได้ ถ้าเรายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง และสามารถชี้แจงได้ว่าเราทำในสิ่งที่เป็นผลดีกับบ้านเมือง
สำหรับเรื่องความพร้อมของสนามเลือกตั้งปักษ์ใต้นั้น ตอนนี้มีความพร้อมทุกจังหวัดแล้ว โดยเฉพาะใน 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อวานได้เปิดตัวที่จังหวัดภูเก็ตไปครบทั้ง 3 เขต ที่พังงาก็มีตัวผู้สมัครชัดเจนแล้ว ทุกจังหวัดครบหมดแล้วและจะเปิดตัวพร้อมกันที่ภาคใต้จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันที่ 11 และ 12 ก.พ. นี้ ส่วนนโยบายก็พร้อมแล้ว ตัวบุคคลก็พร้อมทั้งเขตและบัญชีรายชื่อ
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนไป ในปี 62 นั้นเหมือนการเมืองไทยอยู่ในจุดที่ต้องถูกบังคับเลือกข้างโดยปริยาย เอาทักษิณ กับไม่เอาทักษิณ เอาพล.อ.ประยุทธ์ กับไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์
"วันนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว การเมืองกลับเข้าสู่ระบบรัฐสภาที่ควรจะเป็น นั่นก็คือมีการแข่งขันกันระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง และโดยระบบรัฐสภาก็มีความชัดเจนในตัวของมัน คือผลการเลือกตั้ง หลังจากประชาชนลงคะแนนเสร็จแล้ว พรรคไหนรวมเสียงข้างมากได้ พรรคการเมืองนั้น หรือเสียงข้างนั้นก็จะไปเป็นรัฐบาล
ส่วนเสียงข้างน้อย ก็จะไปเป็นฝ่ายค้านในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล มันมีของมันชัดเจนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการเมืองมันเปลี่ยนไป ผมคิดว่าวันนี้กับเมื่อวานไม่เหมือนกันแล้ว" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
พร้อมกับระบุถึงความแตกต่างและจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์ คือความเป็นสถาบันทางการเมืองที่ยั่งยืน ถ้าประชาชนมอบความไว้วางใจให้แล้ว ก็มั่นใจได้ว่าประชาธิปัตย์ยังอยู่ และพร้อมรับผิดชอบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า รวมถึงการมีความรับผิดชอบย้อนไปตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคต
"ประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่อยู่อย่างมั่นคงมาอย่างยั่งยืน ต่อเนื่อง และจะยืนอยู่ต่อไปในอนาคต แต่สำหรับพรรคการเมืองที่เหลือนั้น บางพรรคก็กำลังพัฒนาตัวเองขึ้นไปสู่ความเป็นสถาบันทางการเมืองก็มี ไม่ใช่ว่าจะไม่มี
แต่พรรคที่เพิ่งเริ่มต้นนับหนึ่ง เพื่อมาสนับสนุนตัวบุคคลเป็นการเฉพาะก็มี เหมือนในอดีต บางยุคมีพรรคการเมืองตั้งขึ้นมาเป็นของจอมพลนั่น จอมพลนี่ แล้วสุดท้ายก็อยู่ไม่ได้ แต่เราก็ไม่ได้ไปปรามาสว่าพรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่เดี๋ยวนี้เขาจะอยู่ไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองก็มีหลากหลายกลุ่มที่จะให้ประชาชนสามารถใช้ดุลยพินิจในการเลือก
ถ้าเราเลือกพรรคเฉพาะกิจ เราก็จะได้อนาคตเฉพาะกิจ ซึ่งมันก็เป็นตรรกะทั่วไปที่ผมคิดว่าประชาชนก็สามารถที่จะทราบได้"