วันนี้ (3 ก.พ.66) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส 33 เขตเลือกตั้ง จำนวน 5 รูปแบบของ กกต.กรุงเทพมหานคร(กกต.กทม.) ว่า กกต.กทม. โชว์แบ่งเขต 33 เขต ถึง 5 รูปแบบ มีข้อสังเกตอะไรบ้าง
ค่าเฉลี่ยราษฎรต่อเขตของ กทม. คือ 166,513 คน การแบ่งเขตที่ดีควรเบี่ยงเบนจากค่าเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 10 วันนี้ (3 ก.พ.) กกต.กทม.โชว์ผลงานแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. กทม. เป็น 33 เขตแล้ว เป็นการดำเนินการก่อนกำหนดที่ กกต.กลางระบุคือ เริ่มประกาศพรุ่งนี้ ถือเป็นผลงานที่ทำได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากกว่าคนอื่น เพราะกฎหมายกำหนดให้ทำไม่น้อยกว่า 3 รูปแบบ แต่มีออกมาถึง 5 รูปแบบ
แต่เมื่อพิจารณาดูเนื้อในของทั้ง 5 รูปแบบ พบว่า กกต.กทม. จะใช้การรวมพื้นที่ระดับเขตเป็นหลัก ไม่ค่อยมีการฉีกบางแขวงออก ทำให้จำนวนความแตกต่างของราษฎรระหว่างเขต แตกต่างกันมหาศาล มีผลต่างจากจำนวนเฉลี่ยราษฎรต่อ ส.ส. หนึ่งคนคิดเป็นร้อยละ เกินกว่าที่จะรับได้
ตัวอย่างเช่น แบบที่ 1 เขต 11 สายไหม มีราษฎร 208,928 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 25.47 เขต 26 ทุ่งครุ มีราษฎร 123,761 คน ต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยร้อยละ 26.67 เท่ากับห่างกันถึง 85,167 คน
แบบที่ 2 เขตที่ 18 คลองสามวา มีราษฎร 209,120 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 25.59 เขต 22 สวนหลวง มีราษฎร 122,676 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 26.33 เท่ากับห่างกันถึง 86,444 คน
แบบที่ 3 เขตที่ 18 คลองสามวา มีราษฎร 209,120 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ย ร้อยละ 25.59 เขตที่ 10 หลักสี่ ดอนเมือง(เฉพาะแขวงสนามบิน) ราษฎร 122,411 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 26.49 เท่ากับห่างกันถึง 86,709 คน
แบบที่ 4 เขต 18 คลองสามวา มีราษฎร 209,120 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 25.59 เขต 6 บางซื่อ มีราษฎร 119,431 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ร้อยละ 28.28 เท่ากับห่างกัน 89,689 คน
แบบที่ 5 เขต 22 สวนหลวง ประเวศ (เฉพาะแขวงหนองบอนและแขวงดอกไม้) 217,818 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 30.81 เขต 10 บางซื่อ มีราษฎร 119,431 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ร้อยละ 28.28 เท่ากับห่างกันถึง 98,387 คน
สรุปทั้ง 5 แบบที่นำเสนอ มีราษฎรแตกต่างระหว่างเขตสูงสุด กับเขตน้อยสุด ตั้งแต่ 85,167 ถึง 98,387 คน จากค่าเฉลี่ยที่มี คือ 166,513 คน
แบ่งแบบนี้จะไหวหรือครับ ฝากท่าน กกต.กลาง ที่มีความรู้ด้านสถิติดีช่วยแนะนำด้วย แก้ใหม่ยังทันครับ