วันที่ 1 มีนาคม 2566 ที่พรรคประชาธิปัตย์ ภายหลังพรรคประชาธิปัตย์ มีมติเสนอชื่อให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้มีคณะเอกอัครราชทูต จากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)ประจําประเทศไทย จำนวน 16 ประเทศ นำโดย นาย เดวิด เดลี (H.E. Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้เดินทางมาพบปะเยี่ยมเยียน ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์
โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค นายนิพนธ์ บุญญามณี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานคณะทำงานด้านการต่างประเทศของพรรค ร่วมให้การต้อนรับ
นายจุรินทร์ เปิดเผยว่า ท่านทูตจาก 16 ประเทศของสหภาพยุโรป นำโดยเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ท่านเดวิด เดลี รวม 17 ภาคส่วน ให้เกียรติพรรคประชาธิปัตย์มาพบตนและคณะ ในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองสำคัญพรรคหนึ่งของประเทศ และกำลังเดินหน้าเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง โดยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยเฉพาะการเตรียมการเลือกตั้ง ไปจนถึงนโยบายและการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการสะท้อนว่า ทูตจาก 16 ประเทศ รวมทั้งทูตอียูให้ความสำคัญและให้เกียรติกับพรรคประชาธิปัตย์อย่างยิ่ง
สำหรับวันการเลือกตั้งนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ และการยุบสภาผู้แทนราษฎร ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนมีนาคมโดยประมาณ ซึ่งการตัดสินใจนั้นขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี แต่ไม่เกิน 23 มีนาคม เพราะเป็นวันสุดท้ายของวาระรัฐบาลชุดนี้
ส่วนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ตนคิดว่ารัฐบาลหน้าคงเป็นรัฐบาลผสม ส่วนรูปแบบไหน ใครร่วมกับใครต้องรอผลการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์มีความชัดเจนว่า ขอให้ประชาชนเป็นผู้ให้คำตอบว่าผลการเลือกตั้งนั้น ประชาชนให้เสียงพรรคไหนมากน้อยอย่างไร โดยพรรคยึดหลักประชาธิปไตย ใครรวมเสียงข้างมากได้คนนั้นเป็นรัฐบาล เสียงข้างน้อยเป็นฝ่ายค้าน
นอกจากนี้ ท่านทูตหลายประเทศได้สอบถามถึงทิศทางและนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระหว่างประเทศ ซึ่งตนก็ได้ตอบว่า ในทางการเมืองระหว่างประเทศ เราถือแนวทางของสหประชาชาติในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิก และท่าทีล่าสุดในเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน เรามีมติสอดคล้องกับสหประชาชาติ
ส่วนทางด้านเศรษฐกิจ เรายึดหลักขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ที่ไทยเป็นสมาชิก และถือเป็นความร่วมมือภายใต้กรอบกติกาที่ใหญ่ที่สุดอันเป็นที่ยอมรับ สำหรับเรื่องสังคมนั้น ยึดหลักการพัฒนาประเทศและภูมิภาคของเราไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งจะเน้นและให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ประเทศและโลกต่อไป
ด้านความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น พรคประชาธิปัตย์มีความพร้อมทั้ง 3 ด้านคือ 1.ตัวผู้สมัครที่พรรคมีเป้าหมายจะส่งผู้สมัครครบทั้ง 500 คน คือแบบเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน 2.ความพร้อมด้านนโยบาย และ 3.คือความพร้อมด้านการจัดการการเลือกตั้ง
ในส่วนของนโยบายจะมี 3 ประเด็นหลักคือ กรอบยุทธศาสตร์ใหญ่ “สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ” และนโยบายย่อยที่สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ โดยที่ผ่านมาได้เปิดตัว 8 นโยบายที่เกี่ยวกับการสร้างเงินไปแล้ว และจะทยอยเปิดเพิ่มเติมอีกในอนาคต รวมถึงการมีนโยบายแต่ละภูมิภาค ที่ออกแบบมาบนความต้องการที่แตกต่างกันตามลักษณะของประชากรในแต่ละพื้นที่
ประเด็นที่สำคัญอีกหนึ่งเรื่องที่ ได้ตอกย้ำก็คือ การที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ที่มีบทบาทให้เห็นชัดเจนตั้งแต่ในพรรค โดยการตัดสินใจทุกอย่างของพรรคจะยึดหลักมติพรรค รวมถึงบทบาทความเป็นประชาธิปไตยในเวทีระหว่างประเทศร่วมด้วยเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย และคณะ ก็ได้เดินทางเข้าพบ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค และคณะผู้บริหารพรรค เช่นกัน