เทศกาลศิลปะร่วมสมัย นานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 (BAB 2022)

04 ต.ค. 2564 | 11:54 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2564 | 19:04 น.

เตรียมพบปรากฎการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ กับเทศกาลศิลปะร่วมสมัย นานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด CHAOS : CALM โกลาหล : สงบสุข พบกันตุลาคม 2565 ถึง กุมภาพันธ์ 2566 นี้

จากความสำเร็จของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale) ที่จัดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2018 และได้สร้างปรากฎการณ์ความยิ่งใหญ่ ภายใต้แนวคิด สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต หรือ Beyond Bliss และจัดต่อเนื่องในปี 2020 ภายใต้แนวคิด ศิลป์สร้าง ทางสุข หรือ Escape Routes โดยมีหัวเรือใหญ่อย่าง บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ผสานความร่วมมือครั้งสำคัญกับ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการจัดงานมีกำหนดจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี เพื่อปลุกกระแสและสร้างความตื่นตัวให้กับวงการศิลปะไทย และทั่วโลก พร้อมเปิดประสบการณ์ใหม่กับการเที่ยวชมงานศิลปะแบบ Virtual Tour ที่ทุกคนทั่วโลกสามารถชมงานได้อย่างทั่วถึง 
.
ล่าสุดได้มีการเปิดตัว บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ภายใต้แนวคิด CHAOS : CALM  โกลาหล : สงบสุข พร้อมเปิดตัวภัณฑารักษ์ และที่ปรึกษา (Advisor) ที่มีชื่อเสียง ทั้งไทยและต่างประเทศ ที่จะกลับมาสร้างความอลังการและความยิ่งใหญ่ให้กับวงการศิลปะ พร้อมเนรมิตกรุงเทพ ให้เป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมระดับโลกอีกครั้ง เตรียมพบกับความยิ่งใหญ่นี้ได้ ตั้งแต่ตุลาคม 2565 ถึง กุมภาพันธ์ 2566 

เทศกาลศิลปะร่วมสมัย นานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 (BAB 2022)

คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในนามประธานกรรมการ และผู้ก่อตั้งมูลนิธิ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เรามีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง กับการประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 (ครั้งที่ 3) ซึ่งจะจัดแสดงในสถานที่สำคัญใจกลางกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ถึง  23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566  ในขณะที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ความถดถอยของสุขภาวะ และปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตในระดับโลก ท่ามกลางความโกลาหลของสภาวะต่างๆ ที่เป็นอยู่นี้ เราหวังว่าศิลปะและกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ จะสามารถขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเปิดมุมมองของความสงบสุข เพื่อช่วยเยียวยาความรู้สึกของแต่ละบุคคล และครอบครัวได้  และคาดหวังว่ากรุงเทพฯ จะกลับมาเป็นจุดหมายปลายทางให้กับนักท่องเที่ยวได้ชื่นชมผลงานศิลปะโดยศิลปินระดับโลกจากประเทศไทยและนานาชาติ ซึ่งจะจัดแสดงอยู่ในพื้นที่สร้างสรรค์ต่าง ๆ เช่น วัดสำคัญ พื้นที่มรดกทางวัฒนธรรม และพื้นที่ด้านผลงานศิลปะที่หลากหลายที่จะถ่ายทอดให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยของเรา และจะมีส่วนช่วยชี้นำหนทางไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นแก่มนุษยชาติต่อไป”

เทศกาลศิลปะร่วมสมัย นานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 (BAB 2022)

ทางด้าน  ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ในนามประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์  บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่  ให้ข้อมูลว่า “เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ CHAOS : CALM หรือ โกลาหล : สงบสุข จะถ่ายทอดสภาวะอันคาดเดาไม่ได้ที่พวกเราทุกคนต้องเผชิญในช่วงนี้ จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และความไม่มั่นคงของสถานการณ์ ทางสังคมและการเมือง ศิลปินจะตีความมุมมองขั้วตรงข้ามของคำว่า CHAOS : CALM โกลาหล : สงบสุข ที่แม้จะดูเป็นคำที่ขัดแย้งกันแต่เป็นสิ่งที่ปรากฎในชีวิตของเราทุกคน ที่ต้องพบกับความสับสนอลหม่านและความหวัง เราหวังว่าศิลปินในระดับบุคคล กลุ่มศิลปิน และการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ จะนำเสนอแนวคิดที่ลึกซึ้ง และการรับรู้เกี่ยวกับความเปราะบางของชีวิต  รวมถึงการเปิดกว้าง (inclusivity) การยอมรับความหลากหลาย และความแตกต่างทางเพศสภาพ โดยคณะภัณฑารักษ์จะเชิญศิลปินจัดแสดงผลงาน รวมทั้งร่วมกันคัดเลือกผ่านโครงการรับสมัครศิลปิน ซึ่งผลงานจะถูกจัดแสดงในพื้นที่ต่างๆ บริเวณกรุงเทพมหานคร และพื้นที่เสมือนจริงออนไลน์”

เทศกาลศิลปะร่วมสมัย นานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 (BAB 2022)

สำหรับความพิเศษในปีนี้เราได้รับเกียรติที่ปรึกษา (Advisor) ที่มีชื่อเสียง จากทั้งไทย และต่างประเทศ อาทิ   ดร. อเล็กซานดรา มันโร ภัณฑารักษ์อาวุโส สาขาศิลปะจากเอเชีย และที่ปรึกษาอาวุโส โครงการ Global Arts พิพิธภัณฑ์และมูลนิธิ The Solomon R. Guggenheim สหรัฐอเมริกา มามิ คาตาโอกะ ผู้อำนวยการ Mori Art Museum ประเทศญี่ปุ่น และประธานกรรมการ International Committee for Museums and Collections of Modern Art (CiMAM) หวัง เฉิน รองผู้จัดการทั่วไป หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ The China Arts and Entertainment Group และสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการมูลนิธิศิลปะแห่งชาติจีน ดร. ยงวู ลี อาจารย์ Shanghai University และอดีตประธานกรรมการมูลนิธิกวางจู เบียนนาเล่  ดร. ยูจีน ตัน  ผู้อำนวยการหอศิลป์แห่งชาติสิงคโปร์ และผู้อำนวยการ Singapore Art Museum มาร่วมในการจัดงานครั้งนี้ด้วย

เทศกาลศิลปะร่วมสมัย นานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 (BAB 2022)

มามิ คาตาโอกะ ผู้อำนวยการ Mori Art Museum ประเทศญี่ปุ่น และประธานกรรมการ International Committee for Museums and Collections of Modern Art (CiMAM) และที่ปรึกษา เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งที่ 3 กล่าวว่า “ในทุกวันนี้มีการแบ่งแยก และความขัดแย้งในรูปแบบต่าง ๆ ทั่วโลก แม้ว่า CHAOS : CALM โกลาหล : สงบสุข จะดูเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งในตัวมันเอง แต่ก็นับว่าเป็นการเสนอความเป็นไปได้ในการอยู่ร่วมกับวิธีคิดที่แตกต่างด้วยความสัมพันธ์ที่ลื่นไหล ซึ่งจะต่างไปจากวิถีการแบ่งขั้วในโลกตะวันตก ความคลุมเครือนี้อาจเป็นหัวใจสำคัญของอนาคตและน่าจะเป็นสิ่งที่ภูมิภาคเอเชียนำเสนอได้ ดิฉันจึงตั้งตารอเตรียมพบกับเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งที่ 3 นี้เป็นอย่างมาก”

เทศกาลศิลปะร่วมสมัย นานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 (BAB 2022)

นอกจากนี้ ยังมีคณะภัณฑารักษ์ผู้มากประสบการณ์อีก 4 ท่าน มาร่วมทำงานกับศิลปิน และคัดเลือกผลงานศิลปะ จากนานาประเทศ อาทิ ไนเจล เฮิร์สท์ ภัณฑารักษ์และที่ปรึกษาศิลปะ และอดีตผู้บริหาร Saatchi Gallery ลอนดอน โลเรดานา ปัซซีนี-ปารัชชานี นักวิชาการและภัณฑารักษ์อิสระผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับศิลปะเอเชียอาคเนย์ จิรัสย์ รัฐวงศ์จิรกุล ผู้อำนวยการ Gallery VER และ ชมวรรณ วีรวรวิทย์ ที่ปรึกษาด้านแบรนด์และศิลปะ ผู้ก่อตั้ง Mysterious Ordinary
.
ติดตามข่าวสาร และตารางกิจกรรมของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 Bangkok Art Biennale 2022 (BAB 2022)   เพิ่มเติมได้ทาง  Facebook : Bkkartbiennale  และ Instagram : Bkkartbiennale