จากเห็ดฟาง สู่ความงามอย่างอ่อนเยาว์ “ไทยทำ ไทยใช้ สู่เวทีโลก”

17 ส.ค. 2566 | 04:15 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2566 | 07:53 น.

จากเห็ดฟาง สู่ความงามอย่างอ่อนเยาว์ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวผสมสมุนไพร หนึ่งในผลงานวิจัยดีเด่นของกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร

ในงานนิทรรศการ “5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรไทย และการก้าวไปในทศวรรษที่ 6” (5th Decades of Thai Agricultural Research Development and Advancing into the 6th decade) ณ Helix Garden จัดโดยกรมวิชาการเกษตร ณ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ถ.สุขุมวิท กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 19 – 20 สิงหาคม 2566 นี้ ตั้งแต่เวลา 10.30 – 19.30 น.

ภายในงานยังมีไฮไลท์สำคัญ ทั้งในส่วนการจัดแสดงนิทรรศการประวัติกรมวิชาการเกษตร กิจกรรมการเสวนา กิจกรรมการแสดงบนเวทีและร่วมสนุกภายในงานมากมายแล้ว อีกไฮไลท์เด่นคือ ส่วนจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม 50 ปี ที่แสดงถึงความสำเร็จของงานวิจัยที่ได้รับการคัดเลือกมาจัดแสดงกว่า 20 ผลงาน

 

จากเห็ดฟาง สู่ความงามอย่างอ่อนเยาว์

 

“จากเห็ดฟาง สู่ความงามอย่างอ่อนเยาว์” เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยดีเด่นของกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตรที่จะนำมาจัดแสดงในครั้งนี้ มีที่มาที่ไปที่สนใจและน่าติดตามอย่างยิ่ง เริ่มต้นจากเห็ดฟางดอกบานที่ใกล้หมดอายุการวางจำหน่าย มีราคาตกต่ำ ได้ถูกนำมาผลิตเป็นโปรตีนไฮโดรไลเซท สำหรับเป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์บำรุงผิว โดยศึกษาการใช้เอนไซม์อัลคาเลส ในการย่อยเห็ดฟางที่ระยะเวลาการย่อย 2 3 4 และ 5 ชั่วโมง เพื่อคัดเลือกโปรตีนไฮโดรไลเซทที่มีคุณภาพเหมาะสมที่สุดในการนำไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิว

จากการทดลองพบว่า โปรตีนไฮโดรไลเซทที่ได้จากการย่อยเห็ดฟางดอกบานที่ 4 ชั่วโมง มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุดและสูงกว่าวิตามินซีถึง 30.36% ทั้งยังพบว่าโปรตีนไฮโดรไลเซทที่ได้จากการย่อยเห็ดฟางดอกตูม 3 ชั่วโมง มีความสามารถในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสที่เป็นสาเหตุของความหมองคล้ำสูงที่สุด หรือมีค่า IC50 1.72±0.31 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร

นอกจากนี้โปรตีนไฮโดรไลเซทที่ได้จากทั้งสองกรรมวิธี มีกรดกลูตามิก ไกลซีน ซีรีน โพลีน อะลานีน และอาร์จีนีนในปริมาณสูง จึงเลือกนำโปรตีนไฮโดรไลเซทจากการย่อยเห็ดฟางดอกบานที่ 4 ชั่วโมง และดอกตูมที่ 3 ชั่วโมง มาผสมใช้ร่วมกันในอัตราส่วน 1:1 เพื่อให้ได้คุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ไปประยุกต์ใช้เป็นส่วนผสมในโลชั่นบำรุงผิวที่ความเข้มข้น 0.5%

ทั้งนี้จากผิวหนังมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบ ในระหว่างวันจะมีการสูญเสียโปรตีนเนื่องจากการเสื่อมสภาพของเซลล์ รังสียูวี และมลภาวะ สามารถซ่อมแซมผิวเนื่องจากการสูญเสียโปรตีนได้ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของโปรตีนไฮโดรไลเซทที่มีขนาดอนุภาคเล็กมาก จะช่วยผิวมีความชุ่มชื้น เรียบเนียน เพิ่มความยืดหยุ่น และยกกระชับผิว

สำหรับผลิตภัณฑ์โลชั่นที่ได้จากการวิจัย “จากเห็ดฟาง สู่ความงามอย่างอ่อนเยาว์” ในครั้งนี้ ได้ถูกนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวผสมสมุนไพร และได้ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส มีค่าความเป็นกรด-ด่าง 6.47 ไม่พบสารปนเปื้อน ไม่ว่าจะเป็นสารหนู ปรอท หรือแบเรียมที่ละลายได้ ไม่พบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ได้การยอมรับผลิตภัณฑ์ 80% และได้คะแนนความชอบทางประสาทสัมผัสด้านสี 5.24, ความหนืด 5.16, การซึมสู่ผิว 5.08, ความเหนียวเหนอะหนะ 5.16, กลิ่นหลังทา 3.92 และความชุ่มชื่นหลังทา 5.72 คะแนน ตามลำดับ (จากเต็ม 7 คะแนน) โดยผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวผสมโปรตีนไฮโดรไลเซทมีต้นทุนการผลิต 53.69 บาทต่อโลชั่น 250 กรัม

สำหรับในการนำผลงานวิจัยนี้ไปใช้ประโยชน์ ทางกรมวิชาการเกษตรได้มีการจัดทำสื่อวิดีโอเรื่องการผลิตโปรตีนไฮโดรไลเซทจากเห็ดฟางและประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิว เพื่อถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการ และได้ยื่นขอขอจดอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เลขรับที่ 2203002829 นอกจากนี้ได้นำเสนอและตีพิมพ์ผลงานวิจัยในหนังสือประมวลบทความในงานการประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ครั้งที่ 17 เรื่องการวิจัยและนวัตกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัยดีเด่นที่สามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ และเกษตรกรที่เกี่ยวเนื่องได้อีกมากในอนาคต รวมถึงช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับสินค้าไทยในเวทีโลก