ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ.2608-2613 โดยการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสีเขียวในภาคพลังงาน อาทิ การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ปรับลดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งเสริมเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่ มาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงาน ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคต
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งทางด้านพลังงานที่สำคัญของไทย โดยภายใต้การนำของหัวเรือใหญ่อย่างนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. นั้น ล่าสุดได้นำร่องโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี (Hydro-floating Solar Hybrid) กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ช่วยลดข้อจำกัดของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตไฟฟ้าได้เพียงบางเวลา ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ยาวนานขึ้น
โดยในช่วงกลางวันจะผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ และช่วงกลางคืนผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ควบคู่กับแบตเตอรี่ที่กักเก็บพลังงานไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการผลิตไฟฟ้าในตอนกลางวัน อีกทั้งยังเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมของเขื่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิ สายส่งไฟฟ้า สถานีไฟฟ้าแรงสูง ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลง
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์กับทุ่นลอยน้ำในเขื่อนสิรินธรครบทั้งหมด 7 ชุด พร้อมติดตั้งทุ่นคอนกรีตของระบบยึดโยงใต้น้ำและก่อสร้างอาคารสวิตช์เกียร์แล้วเสร็จ คาดจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ได้ในเดือนตุลาคม 2564
นอกจากนี้ กฟผ. ยังรอให้กระทรวงพลังงานอนุมัติขยายสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำฯ จากแผน PDP ปัจจุบันที่มีสัดส่วน 2,725 เมกะวัตต์ เป็น 5,000 เมกะวัตต์ เพื่อตอบโจทย์พลังงานสะอาดของประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม กฟผ. ยังพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าของประเทศให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาช่วยบริหารจัดการ อาทิ การติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานเชื่อมต่อกับระบบส่งไฟฟ้าซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพไฟฟ้าจากความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียนที่เข้ามาในระบบไฟฟ้า การใช้ระบบติดตามเฝ้าระวังแบบออนไลน์ในการวางแผนสำหรับบำรุงรักษา การใช้โดรนบินตรวจสายส่งแทนคน รวมถึงการปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงเป็นแบบดิจิทัลเพื่อรองรับกับการเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะหรือสมาร์ทกริดในอนาคต
ส่วนในภาคการขนส่งนั้น กฟผ. ได้มีการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การติดตั้งสถานีชาร์จอีวี EleX by EGAT จำนวน 14 แห่ง และเตรียมขยายเพิ่มอีก 34 แห่งในอนาคต การพัฒนาแอพพลิเคชัน EleXA สำหรับค้นหาสถานีชาร์จอีวี ออกแบบและติดตั้ง EGAT Wallbox สำหรับชาร์จอีวีภายในบ้านหรือสถานที่ประกอบการ รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์ม BackEN สำหรับบริหารจัดการสถานีชาร์จอีวีแบบครบวงจร