นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ว่า สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) หรือมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราชปัจจุบันมีความคืบหน้าการก่อสร้าง 94% ปัจจุบันทล.อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขสัญญาทั้ง 17 ตอน เนื่องจากบางสัญญาพบว่าต้องมีการใช้งบประมาณเพิ่มเติมเข้ามาบริหารสัญญา คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ขณะเดียวกันทางเรือนจำคลองไผ่ได้ส่งหนังสือต่อทล.ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยโดยทำที่กั้นระหว่างเรือนจำและมอเตอร์เวย์เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบขนส่งสินค้าผิดกฎหมาย ขณะที่ความคืบหน้ามอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี พบว่าการก่อสร้างบางตอนติดปัญหา เนื่องจากพื้นที่บางส่วนต้องมีการปรับแผนการก่อสร้างในรูปแบบสะพาน โดยจะใช้งบประมาณที่เหลือจากการประกวดราคาในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับการลงนามสัญญาทั้ง 2 โครงการ จะให้เอกชนร่วมลงทุนในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษา Operation and Maintenance (O&M) ในรูปแบบ PPP Gross Cost ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดให้กรมทางหลวงดำเนินการในขั้นตอนการประมูลคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนมาตามลำดับ โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก ซึ่งถือเป็นการใช้รูปแบบ PPP ในการพัฒนาและบริหารจัดการระบบมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวงที่เป็นโครงการแรกในรอบกว่า 20 ปี ซึ่งจะช่วยลดภาระการลงทุนและบุคลากรของภาครัฐได้อย่างมาก ขระเดียวกันทั้ง 2 โครงการ จะดำเนินการก่อสร้างงานโยธาและการติดตั้งงานระบบภายใต้สัญญา PPP ให้แล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดทดลองให้บริการได้ภายในปี 2566
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวต่อว่า ทั้ง 2 โครงการนั้น มีการแบ่งสัญญาเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างติดตั้งงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การก่อสร้างด่านและติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น M - Flow ระบบควบคุมและบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ ระบบโครงข่ายสื่อสารใยแก้วนำแสงและระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าบนสายทาง อาคารศูนย์ควบคุมและอาคารสำนักงานต่างๆ และระยะที่ 2 เมื่อเปิดเส้นทางให้บริการ กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะทำหน้าที่จัดเก็บค่าผ่านทางและนำส่งรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดให้แก่กรมทางหลวง บริหารจัดการและควบคุมการจราจร ซึ่งรวมถึงงานกู้ภัยและช่วยเหลือผู้ใช้ทางตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนการซ่อมบำรุงรักษาถนนและงานระบบทั้งหมดของโครงการ เป็นระยะเวลา 30 ปี หลังเปิดให้บริการ โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะได้รับค่าตอบแทนสำหรับค่าก่อสร้างงานระบบและค่าตอบแทนสำหรับการดำเนินงาน และบำรุงรักษา โดยจะต้องรักษาระดับการให้บริการให้เป็นไปตามเงื่อนไข KPI ตามที่ทล.กำหนดไว้
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ว่า ภายหลังจากการลงนามสัญญาทั้ง 2 โครงการ บริษัทจะดำเนินการเข้าพื้นที่เพื่อก่อสร้างงานระบบภายในปีนี้ โดยบริษัทจะได้รายได้จากค่าจ้างดำเนินงานและค่าลงทุนก่อสร้างโครงการ วงเงินรวม 3,800 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช วงเงิน 21,000 ล้านบาท และรายได้จากมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 17,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี ขณะเดียวกันในช่วง 3 ปีแรกบริษัทจะใช้งบประมาณในการลงทุนก่อสร้าง วงเงิน 17,000 ล้านบาท เบื้องต้นบริษัทอยู่ระหว่างหาตัวผู้รับจ้างเข้ามาดำเนินการก่อสร้างและระบบจัดเก็บค่าโดยสาร โดยมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 เส้นทาง เป็นการนำร่องเอาเทคโนโลยีระบบ AI เข้ามาเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ลดต้นทุนการจ้างบุคลากรเข้ามาทำงาน ซึ่งสอดรับกับนโยบายกระทรวงคมนาคมที่ใช้ระบบ M-Flow การจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไร้ไม้กั้น